วันพุธที่ 20 มกราคม พ.ศ. 2559

อธิบายคำศัพท์จากซูเราะฮฺอัลฟาติฮะฮฺ (سورة الفاتحة)

อธิบายคำศัพท์จากซูเราะฮฺอัลฟาติฮะฮฺ (سورة الفاتحة  )



เรียบเรียงโดย  อิบนุมะฮฺดี

بِسْمِ اللَّهِ الرَّحْمَٰنِ الرَّحِيمِ   (1)
“ ด้วยพระนามของอัลลอฮฺ ผู้ทรงกรุณาปราณี ผู้ทรงเมตตาเสมอ ”
( بِسْمِ اللَّهِ ) ด้วยพระนามของอัลลอฮฺ พระนามแห่งพระผู้อภิบาล พระผู้เป็นเจ้าที่แท้จริง โดยสิ่งอื่นจะไม่ถูกเรียกด้วยพระนามนี้นอกจากพระองค์เท่านั้น และไม่มีพระเจ้าอื่นใดที่เที่ยงแท้และคู่ควรแก่การกราบไหว้นอกจากพระองค์
(الرَّحْمَٰنِ  ) พระผู้ทรงมีความกรุณาปราณี เมตตาอย่างกว้างขวางแก่ทุกสิ่ง
(  الرَّحِيمِ) พระผู้ทรงเมตตาแก่ผู้ที่พระองค์ทรงประสงค์

الْحَمْدُ لِلَّهِ رَبِّ الْعَالَمِينَ   (2)
“ การสรรเสริญทั้งหลายนั้น เป็นสิทธิของอัลลอฮฺผู้อภิบาลแห่งสากลโลก ”
( الْحَمْدُ บรรดาการสรรเสริญ และการขอบคุณ ต่ออัลลอฮฺด้วยความรัก และการเทิดทูนความยิ่งใหญ่ อัลลอฮฺเป็นผู้ถูกสรรเสริญในทุกด้านอย่างกว้างขวาง และสมบูรณ์
(  لِلَّهِ)  เป็นสิทธิของอัลลอฮฺเท่านั้น คือการสรรเสริญในฐานะพระผู้เป็นเจ้า ด้วยความรักและการเทิดทูนเป็นสิทธิของพระองค์พียงองค์เดียว
(رَبِّ  พระผู้อภิบาล เป็นคำที่รวม 3 คุณลักษณะ คือ ผู้ทรงสร้าง(الخالقผู้ทรงปกครอง(المالك) ผู้ทรงจัดระเบียบ(المدبر)
(  الْعَالَمِينَ) สากลโลก โลกของมนุษย์ โลกของญิน โลกของมะลาอิกะฮฺ โลกของสัตว์ และโลกของทุกสิ่งทุกอย่าง บรรดาอุลามาอฺได้กล่าวว่า “ทุกสิ่งทุกอย่างอื่น นอกจากอัลลอฮฺ ล้วนเป็นส่วนหนึ่งจากสากลโลกทั้งสิ้น และในทุกๆสิ่งจากสิ่งถูกสร้างทั้งหลาย จะมีสัญญาณที่บ่งบอกถึงผู้สร้าง ไม่ว่าจะทางด้านความเดชานุภาพ อำนาจ ความปรีชาญาณ ความเมตตา และความยิ่งใหญ่ของพระองค์”

الرَّحْمَٰنِ الرَّحِيمِ   (3)
“ ผู้ทรงกรุณาปราณี ผู้ทรงเมตตาเสมอ ”
( الرَّحْمَٰنِ )  ผู้ทรงเมตตาอย่างกว้างขวาง แก่ทุกสรรพสิ่งในโลกดุนยา (เป็นคุณลักษณะของพระองค์)
(  الرَّحِيمِผู้ทรงเมตตาอย่างเจาะจง เฉพาะผู้ศรัทธา ที่เชื่อฟังและปฏิบัติตามคำสั่งใช้และออกห่างจากคำสั่งห้ามของพระองค์  (เป็นการกระทำของพระองค์ ) ทรงเลือกเมตตาเฉพาะผู้ที่พระองค์ทรงประสงค์

مَالِكِ يَوْمِ الدِّينِ  (4)
“ ผู้ทรงอภิสิทธิ์แห่งวันตอบแทน ”
( مَالِكِ ) ผู้ทรงอภิสิทธิ์ ผู้ทรงเป็นกษัตริย์เหนือบรรดากษัตริย์ทั้งหลาย ผู้ทรงเป็นผู้ปกครองเหนือบรรดาผู้ปกครองทั้งหลาย เป็นผู้ทรงมีอำนาจสูงสุดอย่างแท้จริง
( يَوْمِ الدِّينِ ) วันแห่งการตอบแทน วันแห่งการพิพากษา วันกิยามะฮฺ วันแห่งการฟื้นคืนชีพ ในวันนั้นจะไม่มีผู้ใดที่มีอำนาจนอกจากอัลลอฮฺ และไม่มีผู้ใดที่จะเป็นผู้สอบสวนและตัดสินนอกจากพระองค์ อัลลอฮฺจะทรงสอบสวนและตอบแทนบรรดาสิ่งถูกสร้างของพระองค์

إِيَّاكَ نَعْبُدُ وَإِيَّاكَ نَسْتَعِينُ   (5)
“ เฉพาะพระองค์เท่านั้นที่พวกเราเคารพสักการะและเฉพาะพระองค์เท่านั้นที่พวกเราขอความช่วยเหลือ ”
( إِيَّاكَ نَعْبُدُ ) เฉพาะอัลลอฮฺเท่านั้นที่พวกเราจะเคารพสักการะ(อิบาดะฮฺ) คือเราจะไม่เคารพสักการะต่อสิ่งใดนอกจากอัลลอฮฺเท่านั้น  เรายอมจำนนต่อพระองค์ด้วยการยอมจำนนอย่างราบคาบสมบูรณ์
(การทำอิบาดะฮ์ คือ การกระทำทุกสิ่งที่อัลลอฮฺทรงสั่งใช้เท่านั้น และละทิ้งสิ่งที่พระองค์ทรงห้าม)
ใครที่ไม่ทำทั้งสองอย่างเขาก็ไม่ถือว่าเป็นบ่าวของอัลลอฮฺอย่างแท้จริง
( وَإِيَّاكَ نَسْتَعِينُ ) เฉพาะอัลลอฮฺเท่านั้นที่พวกเราจะขอความช่วยเหลือ คือเราจะไม่ขอความช่วยเหลือต่อสิ่งใดนอกจากอัลลอฮฺเท่านั้น
(การขอความช่วยเหลือ คือ การขอความช่วยเหลือในฐานะของผู้เป็นบ่าวและพระผู้เป็นเจ้า)
ไม่ถือว่าอิบาดะฮฺสมบูรณ์หากว่าปราศจากการขอความช่วยเหลือหรือการมอบหมายต่ออัลลอฮฺ

اهْدِنَا الصِّرَاطَ الْمُسْتَقِيمَ   (6)
“ ขอพระองค์ทรงแนะนำพวกข้าพระองค์ซึ่งทางอันเที่ยงตรง ”
(  اهْدِنَاขออัลลอฮฺทรงโปรดชี้แนะแก่เรา ขอพระองค์ทรงดลใจเราสู่หนทางอันเที่ยงตรง ขอพระองค์ทรงประทานทางนำ (ฮิดายะฮฺ) แก่เรา
(  الصِّرَاطَหนทาง แนวทาง แบ่งออกเป็น  2 ชนิด คือ หนทางที่เที่ยงตรง( مستقيم) และหนทางที่บิดเบี้ยว(معوج  )
( الْمُسْتَقِيمَ ) ที่เที่ยงตรงและไม่บิดเบี้ยว (หนทางที่เที่ยงตรงก็คือ บทบัญญัติที่ท่านร่อซูล นำมา)
ทางนำหรือฮิดายะฮฺ (هداية) ที่เราขอมี  2 อย่าง คือ 1.ขอทางนำแห่งความศรัทธาและความรู้ที่ถูกต้อง  2.ขอทางนำแห่งการปฏิบัติที่ถูกตอบรับ

صِرَاطَ الَّذِينَ أَنْعَمْتَ عَلَيْهِمْ غَيْرِ الْمَغْضُوبِ عَلَيْهِمْ وَلَا الضَّالِّينَ   (7)
(คือ)หนทางของบรรดาผู้ที่พระองค์ได้ทรงโปรดปราณแก่พวกเขา มิใช่หนทางของพวกที่ถูกกริ้ว และมิใช่หนทางของพวกที่หลงผิด ”
(صِرَاطَ الَّذِينَ أَنْعَمْتَ عَلَيْهِمْ) เราขออยู่ในหนทางของบุคคลที่อัลลอฮฺทรงพอพระทัยพวกเขา อันได้แก่ หนทางของบรรดานบี และร่อซูล บรรดาศอฮาบะฮฺและผู้ปฏิบัติตาม บรรดาชะฮีด บรรดาผู้สัจจริง และบรรดาคนดีทั้งหลาย
(บรรดาผู้ที่อัลลอฮฺทรงพอพระทัย พวกเขาคือ ผู้ที่แสวงหาสัจธรรม พวกเขาศรัทธา และปฏิบัติตามสัจธรรมนั้น )
(غَيْرِ الْمَغْضُوبِ عَلَيْهِمْเราไม่ขออยู่ในหนทางของผู้ที่ถูกอัลลอฮฺโกรธกริ้ว คือชาวยิว (اليهود  )  ซึ่งพวกเขารู้ทุกอย่างที่เป็นสัจธรรม แต่พวกเขาไม่ยอมปฏิบัติ
(พวกยิว คือ พวกที่รู้สัจธรรมแต่ปฏิเสธที่จะศรัทธา และปฏิบัติ)
(وَلَا الضَّالِّينَ) และเราไม่ขออยู่ในหนทางของผู้ที่หลงผิด คือชาวคริสต์ (النصارى  )  ซึ่งพวกเขาทำทุกอย่างโดยไม่มีความรู้ พวกเขาละเลยที่จะแสวงหาสัจธรรมและทางนำที่ถูกต้อง

(พวกคริสต์ คือ พวกที่ไม่รู้สัจธรรม แต่ศรัทธาและปฏิบัติอย่างไม่มีความรู้ และไม่แสวงหาสัจธรรม)



والله أعلم


ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น