วันพุธที่ 20 มกราคม พ.ศ. 2559

ความโกรธ


ความโกรธ



เรียบเรียงโดย  อิบนุมะฮฺดี

      ความโกรธ หมายถึง ความรุนแรงที่เกิดขึ้นจากความไม่พอใจ เป็นสิ่งที่ตรงกันข้ามกับความพอใจ  เป็นอารมณ์ที่เกิดขึ้นชั่วขณะทำให้มีความเครียดและมีความทุกข์ การที่คนๆหนึ่งโกรธ คือเขากำลังมีลักษณะที่รุนแรง อารมณ์โกรธ คือความต้องการที่จะให้เกิดอันตรายแก่ผู้ที่ถูกโกรธ หรือต้องการให้เกิดความเสียหาย อย่างไรก็ตามความโกรธนั้นมีทั้งความโกรธที่ถูกชื่นชม ความโกรธที่ถูกตำหนิ(เป็นที่ต้องห้าม) และความโกรธที่อนุโลม

ประเภทของความโกรธ

-        ความโกรธที่ถูกชมเชย คือ การโกรธเพื่ออัลลอฮฺ เพื่อปกป้องศาสนาของพระองค์ โกรธต่อการฝ่าฝืนอัลลอฮฺ โกรธต่อบรรดาศัตรูของอิสลาม โกรธต่อบรรดาผู้ที่อัลลอฮฺทรงโกรธกริ้วดังเช่น อิบลีส และบรรดาชัยฏอน หรือพวกยิว และหมู่ชนผู้ปฏิเสธฝ่าฝืน และตั้งตนเป็นผู้ทรยศต่ออัลลอฮฺ หรือผู้จะทำลายอิสลาม ซึ่งความโกรธนี้วางอยู่บนพื้นฐานของความดี ถือเป็นความโกรธที่ส่งเสริม และน่าชื่นชม ความโกรธนี้จะไม่นำสู่ความเสียหาย หรือความตกต่ำแต่อย่างใด แต่จะนำไปสู่ความเข้มแข็งต่อการสั่งใช้ในความดี ห้ามปรามความชั่ว และนำไปสู่ความเข้มแข็งต่อการต่อสู้กับศัตรูของอิสลาม  อัลลอฮฺ  ทรงตรัสว่า

[ مُّحَمَّدٌ رَّسُولُ اللَّهِ وَالَّذِينَ مَعَهُ أَشِدَّاء عَلَى الْكُفَّارِ رُحَمَاء بَيْنَهُم ]  الفتح  29
“มุฮัมมัดเป็นร่อซูลของอัลลอฮฺ และบรรดาผู้อยู่ร่วมกับเขาเป็นผู้เข้มแข็งกล้าหาญต่อพวกปฏิเสธศรัทธา เป็นผู้เมตตาสงสารระหว่างพวกเขาเอง”   (อัลฟัตหฺ  29)

และอีกอายะฮฺหนึ่งที่อัลลอฮฺ  ทรงตรัสว่า

[ يَا أَيُّهَا النَّبِيُّ جَاهِدِ الْكُفَّارَ وَالْمُنَافِقِينَ وَاغْلُظْ عَلَيْهِمْ ]  التحريم  9
“โอ้นบีเอ๋ย จงต่อสู้กับพวกปฏิเสธศรัทธาและพวกกลับกลอก และจงแข็งกร้าวกับพวกเขา” (อัตตะหฺรีม 9)

   เป็นคำสั่งของอัลลอฮฺ ให้มีความแข็งกร้าวรุนแรงต่อบรรดาผู้ปฏิเสธศรัทธาและพวกมุนาฟิก และโกรธพวกเขา อันเนื่องจากการปฏิเสธศรัทธาและการกลับกลอกของพวกเขาที่มีต่ออัลลอฮฺ และการเป็นศัตรูของพวกเขาต่อบรรดาผู้ศรัทธา
    และเสมือนความโกรธของท่านนบีมูซาที่มีต่อกลุ่มชนของท่าน ที่ได้สร้างเจว็ดรูปวัวขึ้นมาจากทองคำ และกราบไหว้มัน ขณะที่ท่านนบีมูซาขึ้นไปรับวะหฺยูจากอัลลอฮฺ ที่ภูเขาซีนาย ซึ่งก่อนหน้านี้พวกเขาพึ่งจะได้รับการช่วยเหลือจากอัลลอฮฺให้รอดพ้นจากฟิรอูน  ดังที่อัลลอฮฺ  ทรงกล่าวว่า

[ وَلَمَّا رَجَعَ مُوسَى إِلَى قَوْمِهِ غَضْبَانَ أَسِفاً قَالَ بِئْسَمَا خَلَفْتُمُونِي مِنْ بَعْدِي أَعَجِلْتُمْ أَمْرَ رَبِّكُمْ وَأَلْقَى الْأَلْوَاحَ وَأَخَذَ بِرَأْسِ أَخِيهِ يَجُرُّهُ إِلَيْهِ ]    الأعراف  150
“และเมื่อมูซาได้กลับมายังพวกพ้องของเขาด้วยความโกรธ และเสียใจ เขาได้กล่าวว่า ช่างเลวร้ายจริงๆ (ที่สร้างรูปปั้นวัวและสักการะมัน) ที่พวกท่านทำหน้าที่แทนฉัน  หลังจากฉัน(ไปพบอัลลอฮฺที่ภูเขาซีนาย) พวกท่านรีบกระทำก่อนจะมีคำสั่งจากพระผู้อภิบาลของพวกเจ้ากระนั้นหรือ และเขา(มูซา)ได้โยนแผ่นจารึกลง และจับศีรษะพี่ชายของเขา(นบีฮารูน) โดยดึงมายังเขา ”  (อัลอะอฺรอฟ  150)

และมีหะดีษที่บอกถึงความโกรธหรือเกลียดชังเพื่ออัลลอฮฺนั้นเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้อีหม่านสมบูรณ์ ท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม ได้กล่าวว่า

مَن أحبَّ للهِ وأبغَض للهِ وأعطى للهِ ومنَع للهِ فقد استكمَلَ الإيمانَ    رواه أبوداود
“บุคคลใดมีความรักเพื่ออัลลอฮฺ และเกลียดชังเพื่ออัลลอฮฺ และให้เพื่ออัลลอฮฺ และระงับ(ไม่ให้)เพื่ออัลลอฮฺ เขาย่อมมีอีหม่านที่สมบูรณ์แล้ว”  รายงานโดยอบูดาวูด

-        ความโกรธที่ถูกตำหนิ คือ การโกรธที่ไม่ได้ทำเพื่ออัลลอฮฺ และศาสนาของพระองค์ เช่น โกรธต่อคำตัดสินของอัลลอฮฺและร่อซูล โกรธต่อโองการต่างๆของอัลลอฮฺ โกรธและไม่พอใจต่อการกำหนดของอัลลอฮฺ โกรธต่อบทบัญญัติทางศาสนาที่สั่งใช้ในความดี และห้ามปรามความชั่ว เช่นความโกรธต่อการที่ศาสนาสั่งห้ามความชั่วบางประการที่เขาอยากทำ หรือโกรธต่อความดีที่ศาสนาใช้ให้กระทำ ดังเช่นผู้ปฏิเสธศรัทธาและพวกยิว ซึ่งความโกรธชนิดนี้เป็นเป็นที่ต้องห้ามสำหรับบรรดาผู้ศรัทธา จำเป็นจะต้องออกห่างจากมัน เพราะมันคือหนทางสู่ความชั่วร้าย ความเสียหาย และความตกต่ำ อัลลอฮฺ  ทรงกล่าวถึงคนประเภทนี้ว่า

[ وَإِذَا تُتْلَىٰ عَلَيْهِمْ آيَاتُنَا بَيِّنَاتٍ تَعْرِفُ فِي وُجُوهِ الَّذِينَ كَفَرُوا الْمُنكَرَ ۖ يَكَادُونَ يَسْطُونَ بِالَّذِينَ يَتْلُونَ عَلَيْهِمْ آيَاتِنَا ] الحج  72
“และเมื่อโองการทั้งหลายอันชัดแจ้งของเราได้ถูกนำมาอ่านแก่พวกเขา เจ้าจะสังเกตเห็นอาการบอกปัดไม่ยอมรับบนใบหน้าของบรรดาผู้ปฏิเสธศรัทธา พวกเขาเกือบจะเข้าไปทำร้ายบรรดาผู้ที่อ่านโองการทั้งหลายของเราให้พวกเขาฟัง”  (อัลฮัจญ์  72)

-       ความโกรธที่อนุโลม  คือ ความโกรธในเรื่องทั่วไปที่มิได้เป็นการฝ่าฝืนต่ออัลลอฮฺ ไม่ได้เป็นบาป และไม่เกินเลยขอบเขตของศาสนา เพราะปฏิเสธไม่ได้ว่าความโกรธนั้นเป็นอารมณ์ที่เกิดขึ้นกับคนทุกคนแม้กระทั่งผู้ศรัทธา แต่อยู่ที่แต่ละคนจะรับมือกับความโกรธนั้นอย่างไร  เช่นการโกรธต่อคำพูดของคนหยาบคายที่มีต่อเรา โกรธต่อพฤติกรรมของผู้อื่นที่ทำไม่ดีกับเรา กระนั้นก็ตามการอดทนและให้อภัยนั้นย่อมดี และเป็นมารยาทที่ประเสริฐยิ่งกว่า เพราะความโกรธไม่ว่าเรื่องใดที่มิได้เป็นไปเพื่ออัลลอฮฺนั้นย่อมพาเราไปสู่ความตกต่ำในที่สุด และการอดทนและให้อภัยเมื่อโกรธนั้นเป็นคุณลักษณะของผู้ที่อัลลอฮฺ ทรงรัก และชื่นชม ดังที่อัลลอฮฺ ทรงตรัสว่า
 [ وَالَّذِينَ يَجْتَنِبُونَ كَبَائِرَ الْإِثْمِ وَالْفَوَاحِشَ وَإِذَا مَا غَضِبُوا هُمْ يَغْفِرُونَسورة الشورى 37
“และบรรดาผู้หลีกเลี่ยงการทำบาปใหญ่และการทำลามก และเมื่อพวกเขาโกรธพวกเขาก็ให้อภัย” (อัชชูรอ 37)

และอายะฮฺที่ว่า
[الَّذِينَ يُنفِقُونَ فِي السَّرَّاء وَالضَّرَّاء وَالْكَاظِمِينَ الْغَيْظَ وَالْعَافِينَ عَنِ النَّاسِ وَاللّهُ يُحِبُّ الْمُحْسِنِينَ] آل عمران  134
“บรรดาผู้ซึ่งบริจาคทั้งในยามสุขสบายและในยามเดือดร้อน และบรรดาผู้ข่มโทสะ และบรรดาผู้ให้อภัยแก่เพื่อนมนุษย์และอัลลอฮฺนั้นทรงรักบรรดาผู้กระทำดีทั้งหลาย” (อาลิอิมรอน 134)

   ความโกรธไม่ว่าเรื่องใดที่มิได้โกรธเพื่ออัลลอฮฺจะมีชัยฏอนที่เป็นผู้คอยสนับสนุน ซึ่งมันเป็นศัตรูที่ชัดแจ้งสำหรับมนุษย์ ความโกรธนี้จึงจำเป็นจะต้องทำการรักษาและขจัดออกไปจากตัวผู้ศรัทธาทุกครั้งที่โกรธ อัลลอฮฺ ทรงตรัสว่า

 [ وَإِمَّا يَنْزَغَنَّكَ مِنَ الشَّيْطَانِ نَزْغٌ فَاسْتَعِذْ بِاللَّهِ إِنَّهُ هُوَ السَّمِيعُ الْعَلِيمُ ]   فصلت 36
และหากว่าการยุแหย่ใดๆจากชัยฏอนมายั่วยุเจ้า ดังนั้นเจ้าก็จงขอความคุ้มครองต่ออัลลอฮฺเถิด แท้จริงพระองค์ทรงเป็นผู้ทรงได้ยิน ผู้ทรงรอบรู้ (ฟุศศิลัต 36)

และหะดีษของท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม ได้กล่าวว่า

إنَّ الغَضبَ منَ الشَيطَانِ وإنَّ الشَيطَانَ خُلِقَ منَ النَارِ وإنَّمَا تُطْفَأُ النَّارُ بالمَاءِ فَإذَا غَضِبَ أَحَدُكُم فَلْيَتَوَضَّأْ   
رواه أبو داود
แท้จริงความโกรธนั้นมาจากชัยฏอน และแท้จริงชัยฏอนนั้นถูกสร้างมาจากไฟ และไฟนั้นจะถูกดับด้วยน้ำ ดังนั้นเมื่อคนหนึ่งคนในในหมู่พวกท่านโกรธ เขาจงอาบน้ำละหมาดเถิด (รายงานโดยอบูดาวูด)

والله أعلم






ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น