วันศุกร์ที่ 29 มกราคม พ.ศ. 2559

สรุปหลักการศรัทธาในอิสลาม 6 ประการ

สรุปหลักการศรัทธาในอิสลาม 6 ประการ




ท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม ได้กล่าวว่า
 الإيمان أَنْ تُؤْمِنَ بِاللَّهِ وَمَلائِكَتِهِ وَكُتُبِهِ وَرُسُلِهِ وَالْيَوْمِ الآخِرِ وَتُؤْمِنَ بِالْقَدَرِ خَيْرِهِ وَشَرِّهِ
การศรัทธา : คือ การศรัทธาเชื่อมั่นต่ออัลลอฮฺ ต่อบรรดามะลาอิกะห์ของพระองค์ ต่อบรรดาคัมภีร์ของพระองค์ ต่อบรรดาร่อซูลของพระองค์ ต่อวันปรโลก และศรัทธาต่อการกำหนดสภาวการณ์ทั้งดีและชั่ว
(บันทึกโดย มุสลิม)

           การศรัทธาต่ออัลลอฮฺ
         การศรัทธาต่ออัลลอฮฺ คือการเชื่อมั่นในการมีอยู่จริงของอัลลอฮฺ และศรัทธาในความเป็นพระผู้เป็นเจ้า และพระผู้ทรงสร้างเพียงพระองค์เดียวเท่านั้น และเคารพภักดีต่อพระองค์เพียงองค์เดียว โดยไม่เคารพภักดีต่อผู้ใดหรือสิ่งใดในฐานะที่เทียบเคียงกับพระองค์ การศรัทธาต่ออัลลอฮฺ นี้ถือเป็นหลักพื้นฐานสำคัญที่สุดจากหลักการศรัทธา เป็นรากฐานสำคัญที่สุดของอีหม่านทั้ง 6 ประการ

การศรัทธาต่ออัลลอฮฺประกอบไปด้วยองค์ประกอบ 4 ประการ คือ
-      การศรัทธาต่อการมีอยู่จริงของอัลลออฮฺ
-      การศรัทธาต่อเตาฮีดอัรรุบูบียะห์  الربوبية توحيد (การให้เอกภาพในความเป็นผู้สร้าง ความเป็นผู้ปกครอง และการดูแลจัดการของอัลลอฮฺ)
-      การศรัทธาต่อเตาฮีดอัลอุลูฮียะห์   توحيد الألوهية(การให้เอกภาพในความเป็นพระเจ้าที่ถูกกราบไหว้เพียงองค์เดียว)
-      การศรัทธาต่อเตาฮีดอัลอัสมาอฺ วัศศิฟาต  توحيد الأسماء والصفات  (การให้เอกภาพในพระนามและคุณลักษณะต่างๆ ไม่มีสิ่งใดที่เสมอเหมือนหรือมีส่วนในพระองค์ทั้งสิ้น)


          การศรัทธาต่อบรรดามะลาอิกะฮฺ   
     การศรัทธาต่อบรรดามะลาอิกะฮฺ   คือการเชื่อมั่นในการมีอยู่จริงของบรรดามะลาอิกะฮฺและเชื่อว่าพวกเขาเป็นหนึ่งใน สิ่งถูกสร้างที่เร้นลับ ชนิดหนึ่ง  โดยต้องมีความศรัทธาต่อพวกเขาทั้งในภาพรวมและในรายละเอียดที่มีบอกไว้ในอัลกุรอานและหะดีษที่ถูกต้อง ต้องศรัทธาต่อพวกเขาทั้งที่อัลลอฮฺ ทรงบอกชื่อและไม่ทรงบอกชื่อไว้ หากผู้ใดปฏิเสธต่อการมีอยู่จริงของบรรดามะลาอิกะฮฺก็ถือว่าเขาผู้นั้นเป็นผู้ปฏิเสธศรัทธา การศรัทธาต่อบรรดามะลาอิกะฮฺถือเป็นอีกรู่ก่นหนึ่งที่สำคัญมากของการศรัทธา เป็นหลักการที่มุสลิมทุกคนต้องศรัทธา

การศรัทธาต่อบรรดามะลาอิกะฮฺประกอบไปด้วยองค์ประกอบ 4 ประการ คือ
       -      การศรัทธาต่อการมีอยู่จริงของบรรดามะลาอิกะฮฺ ซึ่งพวกเขาถูกสร้างมาจากรัศมี
       -      การศรัทธาต่อบรรดามะลาอิกะฮฺที่เรารู้จักชื่อและไม่รู้จักชื่อ มะลาอิกะฮฺที่รู้จักชื่อเช่น ญิบรีล มีกาอีล อิสรอฟีล ริฎวาน มาลิก มุนกัร นะกีร และศรัทธาต่อบรรดามะลาอิกะฮฺที่เราไม่รู้จักชื่อในภาพรวม
       -      การศรัทธาต่อคุณลักษณะที่เรารู้ของบรรดามะลาอิกะฮฺ เช่นมะลาอิกะฮฺบางท่านมีปีก 2 หรือ 3 หรือ 4 ปีก หรือท่านญิบรีลที่มี 600 ปีก
       -      การศรัทธาต่อหน้าที่ต่างๆที่เรารู้ของบรรดามะลาอิกะฮฺ เช่น ญิบรีลถูกมอบหมายในเรื่องวะฮีย์ มีกาอีลมีหน้าที่เกี่ยวกับริซกีปัจจัยยังชีพ อิสรอฟีลมีหน้าที่ในการเป่าแตร และยังมีมะลาอิกะฮฺท่านอื่นๆที่ทำหน้าที่ตามที่อัลลอฮฺทรงสั่งใช้ พวกเขาจะไม่ทำสิ่งใดนอกจากอัลลอฮฺจะสั่งใช้และพวกเขาไม่ฝ่าฝืนอัลลอฮฺ



          การศรัทธาต่อบรรดาคัมภีร์
       การศรัทธาต่อบรรดาคัมภีร์ คือ การที่เชื่อมั่นว่าอัลลอฮฺ ได้ทรงประทานคัมภีร์ต่างๆลงมายังบรรดารอซูลเพื่อให้นำมาเผยแพร่แก่มนุษยชาติ เป็นสารจากพระเจ้าถึงมนุษย์ ในคัมภีร์เหล่านี้มีทางนำแนวทางในการดำเนินชีวิตให้แก่มวลมนุษย์ทั้งในโลกนี้และโลกหน้า และเชื่อว่าบรรดาคัมภีร์เหล่านั้นมาจากอัลลอฮฺจริง และศรัทธาต่อเนื้อหาในบรรดาคัมภีร์ว่าเป็นความจริง ศรัทธาต่อบรรดาคัมภีร์ที่อัลลอฮฺทรงบอกชื่อและไม่ได้บอกชื่อ และศรัทธา ยอมรับต่อบทบัญญัติที่อัลลอฮฺทรงประทานลงมาในคัมภีร์

การศรัทธาต่อบรรดาคัมภีร์ประกอบไปด้วยองค์ประกอบ 4 ประการ คือ
-      การศรัทธาว่าอัลลอฮฺทรงประทานคัมภีร์แก่บรรดาศาสนทูตของพระองค์จริง ซึ่งคัมภีร์เหล่านั้นเป็นพระดำรัสของพระองค์
-      การศรัทธาต่อบรรดาคัมภีร์ที่เรารู้จักชื่อและไม่รู้จักชื่อ คัมภีร์ที่รู้จักชื่อ เช่นอัลกุรอาน เตารอฮฺ อินญีล ซะบูร และศุฮุฟของอิบรอฮีม และศรัทธาต่อบรรดาคัมภีร์ที่เราไม่รู้จักชื่อในภาพรวม
-      การศรัทธาต่อเนื้อหาที่ได้ระบุอยู่ในบรรดาคัมภีร์ว่าเป็นพระดำรัสของอัลลอฮฺจริง และบรรดาคัมภีร์ที่ถูกประทานลงมาก่อนอัลกุรอ่านนั้นได้ถูกบิดเบือน เปลี่ยนแปลง แต่อัลกุรอานนั้นเป็นคัมภีร์ที่อัลลอฮฺทรงรักษาจากการบิดเบือน การเปลี่ยนแปลง
-      การศรัทธาว่าจำเป็นสำหรับทุกๆประชาชาติที่จะต้องปฏิบัติตามคัมภีร์ ซึ่งถูกประทานลงมาให้แก่พวกเขาในแต่ละยุค และสำหรับประชาชาติยุคสุดท้ายคืออัลกุรอาน



          การศรัทธาต่อบรรดารอซูล
      การศรัทธาต่อบรรดารอซูลหรือบรรดาศาสนทูต คือการเชื่อมั่นว่าอัลลอฮฺ ได้กำหนดให้ทุกๆประชาชาติมีศาสนทูตท่านหนึ่งในหมู่พวกเขา เพื่อเชิญชวนพวกเขาเหล่านั้นสู่การภักดีต่ออัลลอฮฺ เพียงพระองค์เดียว และห้ามจากการตั้งภาคีใดๆต่อพระองค์ และต้องศรัทธาว่าบรรดาศาสนทูตนั้นเป็นผู้ที่สัจจริงและน่าเชื่อถือ มีความซื่อสัตย์ เป็นผู้ยำเกรงต่ออัลลอฮฺ เป็นผู้นำทางและได้รับทางนำที่ถูกต้อง พวกเขาเป็นผู้ถูกคัดเลือกจากอัลลอฮฺให้เป็นผู้ประกาศให้มวลมนุษย์ได้รับรู้ในพระดำรัสอัลลอฮฺที่ได้ทรงประทานลงมา บรรดาศาสนทูตจะไม่ปกปิด บิดเบือนเปลี่ยนแปลง เพิ่มเติมหรือตัดทอนสาส์นที่มาจากอัลลอฮฺแม้แต่นิดเดียว  บรรดานบีนั้นมีจำนวน 124,000 ท่าน และในบรรดานบีก็มีผู้ที่เป็นรอซูลจำนวน 300 กว่าท่าน

การศรัทธาต่อบรรดารอซูลประกอบไปด้วยองค์ประกอบ 3 ประการ คือ
       -      การศรัทธาว่าแท้จริงอัลลอฮฺทรงแต่งตั้งรอซูลและนบีแก่ทุกๆประชาชาติ เพื่อเรียกร้องมนุษย์ไปสู่การศรัทธาและสักการะต่ออัลลอฮฺองค์เดียว และห้ามการตั้งภาคีแก่พระองค์
       -      การศรัทธาต่อบรรดารอซูลและนบีที่เรารู้จักชื่อและไม่รู้จักชื่อ รอซูลที่รู้จักชื่อเช่นอาดัม นูหฺ อิบรอฮีม มูซา อีซา มุฮัมมัด และท่านอื่นๆ และศรัทธาต่อบรรดารอซูลและนบีที่เราไม่รู้จักชื่อในภาพรวม
       -      การศรัทธาว่าความเชื่อของบรรดารอซูลและนบีทั้งหมดนั้นเป็นหนึ่งเดียวกัน ไม่ขัดแย้งกัน แต่จะมีความแตกต่างในด้านรายละเอียดของบทบัญญัติที่เหมาะสมของแต่ละประชาชาติ



         การศรัทธาต่อวันอาคิเราะฮฺ
     การศรัทธาต่อวันอาคิเราะฮฺ คือการเชื่อมั่นว่าวันอาคิเราะฮฺ จะเกิดขึ้นอย่างแน่นอนหลีกเลี่ยงไม่ได้ เช่นเดียวกับความตาย และต้องศรัทธาต่อบรรดาสัญญาณต่างๆของวันอาคิเราะฮฺตามที่มีในอัลกุรอานและหะดีษที่ถูกต้องแ ละความรอบรู้ในเรื่องของการกำหนดวันอาคิเราะฮฺนั้นเป็นกรรมสิทธิ์ของอัลลอฮฺ แต่เพียงผู้เดียว ไม่มีผู้ใดรู้นอกจากพระองค์

การศรัทธาต่อวันอาคิเราะฮฺประกอบไปด้วยองค์ประกอบที่สำคัญ ดังนี้
       -      การศรัทธาต่อชีวิตหลังความตาย ในหลุมฝังศพ การถูกสอบสวนจากมะลาอิกะฮฺสองท่าน และความสุขสบายและการลงโทษในหลุมฝังศพ
       -      การศรัทธาต่อการเป่าแตรในวันอาคิเราะฮฺ เพื่อปลิดชีวิตทุกชีวิต และเป่าอีกครั้งเพื่อให้ฟื้นคืนชีพ
       -      การศรัทธาต่อการฟื้นคืนชีพ ของทุกๆสิ่ง ทั้งมนุษย์ ญิน และสิ่งมีชีวิตต่างๆ
       -      การศรัทธาต่อเหตุการณ์ต่างๆที่จะเกิดขึ้นในวันอาคิเราะฮฺ ได้แก่ การชุมนุม การชะฟาอะฮฺ การสอบสวนคิดบัญชี การมอบบันทึกให้ทางขวาหรือซ้าย การนำเสนอการกระทำของมนุษย์ การชั่งน้ำหนักความดีความชั่ว   การพบนบีที่บ่อน้ำนบี ความยากลำบากในวันกิยามะฮฺ การชดใช้สิทธิของกันและกัน การข้ามสะพานศิรอฎ(สะพานนรก)
       -      การศรัทธาต่อสวรรค์และนรก ทั้งสองนั้นเป็นสิ่งถูกสร้างที่มีอยู่จริงขณะนี้ สวรรค์นั้นเป็นรางวัลแก่บรรดาผู้ศรัทธา และนรกจะเป็นการลงโทษแก่บรรดาผู้ปฏิเสธศรัทธาและบรรดาคนชั่ว



         การศรัทธาต่อกฎการกำหนดสภาวการณ์
     การศรัทธาต่อกฎการกำหนดสภาวการณ์ คือ การเชื่อมั่นว่าสิ่งที่ดีและสิ่งที่ไม่ดีทั้งหมดนั้น เกิดขึ้นจากการความประสงค์และการกำหนดของอัลลอฮฺ ด้วยความรอบรู้ และความปรีชาญาณของพระองค์ จะไม่มีสิ่งใดเกิดขึ้นนอกเหนือจากพระประสงค์และกำหนดการของพระองค์เท่านั้น

การศรัทธาต่อกฎการกำหนดสภาวะการณ์ มีองค์ประกอบ 4 ประการ
  -      ศรัทธาต่อความรอบรู้ของอัลลอฮฺ ที่พระองค์ทรงรู้ทุกสิ่งไม่ว่าเกิดขึ้นแล้ว กำลังเกิดขึน หรือยังไม่เกิดขึ้น
  -      ศรัทธาต่อการเขียนบันทึกของอัลลอฮฺ ซึ่งทุกสิ่งทุกอย่างได้อัลลอฮฺทรงเขียนบันทึกไว้ด้วยความรอบรู้ของพระองค์
  -      ศรัทธาต่อความประสงค์ของอัลลอฮฺ ทุกสิ่งที่เกิดขึ้นนั้นล้วนแล้วแต่เป็นพระประสงค์ของอัลลอฮฺทั้งสิ้น จะไม่มีสิ่งใดเกิดขึ้นหากอัลลอฮฺไม่ทรงประสงค์
  -      ศรัทธาต่อการสร้างของอัลลอฮฺ พระองค์ทรงสร้างทุกสิ่งทุกอย่างและพระองค์ก็ทรงสร้างการกระทำของมันด้วยเช่นกัน

والله أعلم






วันพุธที่ 20 มกราคม พ.ศ. 2559

การขจัดความโกรธ


การขจัดความโกรธ



เรียบเรียงโดย  อิบนุมะฮฺดี

    ความโกรธ  ถือเป็นโรคทางใจชนิดหนึ่งที่จำเป็นต้องรักษาทันทีที่มีอาการ เพราะโรคแห่งความโกรธนี้มักจะดึงเราสู่ความเสียหาย ความตกต่ำ การขาดสติ และความเศร้าเสียใจในภายหลัง และความโกรธนี้จำเป็นจะต้องใช้ยารักษาที่ตรงกับโรค สำหรับทุกๆโรคนั้นย่อมมียารักษา อัลลอฮฺ จะไม่ทรงส่งโรคมานอกจากพระองค์จะส่งยารักษาโรคนั้นมาด้วย ดังมีรายงานหะดีษที่ว่า

عن أبي هريرة رضي الله عنه - أن رسول الله صلى الله عليه وسلم قال: (ما أنزل الله داء إلا أنزل له شفاء)   
رواه البخاري
รายงานจากท่านอบีฮุร็อยเราะห์ ว่าแท้จริงท่านร่อซูล ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัมได้กล่าวว่า “อัลลอฮฺไม่ทรงประทานโรคใดมานอกจากพระองค์จะทรงประทานยารักษาโรคนั้นลงมาด้วย”  รายงานโดยบุคอรีย์

วิธีการขจัดความโกรธ

1.      ขอความคุ้มครองต่ออัลลอฮฺให้พ้นจากชัยฏอน เพราะชัยฏอนเป็นต้นตอแห่งความโกรธของเรา พร้อมขอความช่วยเหลือจากอัลลอฮฺให้เราสามารถเอาชนะความโกรธได้ ดังที่อัลลอฮฺ ทรงตรัสว่า

 [ وَإِمَّا يَنْزَغَنَّكَ مِنَ الشَّيْطَانِ نَزْغٌ فَاسْتَعِذْ بِاللَّهِ إِنَّهُ هُوَ السَّمِيعُ الْعَلِيمُ ]   فصلت 36
“และหากว่าการยุแหย่ใดๆจากชัยฏอนมายั่วยุเจ้า ดังนั้นเจ้าก็จงขอความคุ้มครองต่ออัลลอฮฺเถิด แท้จริงพระองค์ทรงเป็นผู้ทรงได้ยิน ผู้ทรงรอบรู้” (ฟุศศิลัต 36)
2.      การเข้าหาอัลกุรอานไม่ว่าจะด้วยการอ่าน การฟัง หรือการใคร่ครวญ เพราะอัลกุรอานคือยารักษาสำหรับทุกโรค อัลลอฮฺ  ทรงตรัสว่า

[ وَنُنَزِّلُ مِنَ الْقُرْآنِ مَا هُوَ شِفَاءٌ وَرَحْمَةٌ لِلْمُؤْمِنِينَ ]  الإسراء  82
“และเราได้ประทานส่วนหนึ่งจากอัลกุรอานลงมา ซึ่งเป็นการบำบัดรักษาและเป็นความเมตตาแก่บรรดาผู้ศรัทธา”  (อัลอิสรออฺ 82 )

3.      การรำลึกถึงอัลลอฮฺ ให้มาก ดังที่อัลลอฮฺ ทรงตรัสว่า

[ الَّذِينَ آمَنُوا وَتَطْمَئِنُّ قُلُوبُهُمْ بِذِكْرِ اللَّهِ أَلا بِذِكْرِ اللَّهِ تَطْمَئِنُّ الْقُلُوبُ ] الرعد  28
 “บรรดาผู้ศรัทธา และจิตใจของพวกเขาสงบนิ่งด้วยการรำลึกถึงอัลลอฮฺ พึงทราบเถิด ด้วยการรำลึกถึงอัลลอฮฺเท่านั้น ทำให้จิตใจสงบนิ่ง”  (อัรเราะอฺดุ 28)

4.      รำลึกถึงความประเสริฐของการระงับความโกรธ ดังที่อัลลอฮฺ  ทรงตรัสว่า

[ وَالَّذِينَ يَجْتَنِبُونَ كَبَائِرَ الْإِثْمِ وَالْفَوَاحِشَ وَإِذَا مَا غَضِبُوا هُمْ يَغْفِرُونَ سورة الشورى 37
“และบรรดาผู้หลีกเลี่ยงการทำบาปใหญ่และการทำลามก และเมื่อพวกเขาโกรธพวกเขาก็ให้อภัย” (อัชชูรอ 37)

และอายะฮฺที่ว่า
[ الَّذِينَ يُنفِقُونَ فِي السَّرَّاء وَالضَّرَّاء وَالْكَاظِمِينَ الْغَيْظَ وَالْعَافِينَ عَنِ النَّاسِ وَاللّهُ يُحِبُّ الْمُحْسِنِينَ ]   
آل عمران  134
“บรรดาผู้ซึ่งบริจาคทั้งในยามสุขสบายและในยามเดือดร้อน และบรรดาผู้ข่มโทสะ และบรรดาผู้ให้อภัยแก่เพื่อนมนุษย์และอัลลอฮฺนั้นทรงรักบรรดาผู้กระทำดีทั้งหลาย” (อาลิอิมรอน 134)

และมีรายงานหะดีษที่ว่า
عن أبي الدرداء رضي الله عنه قال : قلت: يا رسول الله دلني على عمل يدخلني الجنة. قال : لا تغضب ولك الجنة .رواه الطبراني

     รายงานจากท่านอบีดัรดาอฺ ร่อฎิยัลลอฮุอันฮุ ได้เล่าว่า ฉันได้กล่าวแก่ท่านร่อซูลว่า โอ้ท่านร่อซูลโปรดชี้แนะแก่ฉันถึงการกระทำที่ทำให้ฉันเข้าสวรรค์ด้วยเถิด ท่านร่อซูล ได้กล่าวตอบว่า “ท่านอย่าได้โกรธ และสำหรับท่านนั้นคือสวรรค์” (รายงานโดยอัฏฏอบรอนีย์)

5.      นึกถึงความเสียหายของความโกรธที่จะนำเราสู่ความตกต่ำ ความหายนะ และความเศร้าเสียใจในภายหลัง

6.      รำลึกถึงคำสั่งเสีย คำตักเตือนของท่านนบี ที่มีต่อชายคนหนึ่งมาหาท่านนบีและขอให้ท่านนบีสั่งเสียแก่เขา ท่านนบีจึงกล่าวแก่เขาว่า (لاَ تَغْضَب) ท่านอย่าได้โกรธ

7.      การสงบนิ่งเมื่อโกรธ ดังหะดีษของท่านนบีที่กล่าวว่า

إذَا غَضِبَ أَحَدُكُم فَلْيَسْكُتْ     رواه الإمام أحمد
“เมื่อคนหนึ่งคนใดในหมู่พวกท่านโกรธเขาก็จงนิ่งเสียเถิด”  รายงานโดยอิหม่ามอะหฺมัด

8.      การให้อภัยแก่ผู้อื่นและออกห่างจากบรรดาคนเขลา ดังที่อัลลอฮฺ  ทรงตรัสว่า

[ خُذِ الْعَفْوَ وَأْمُرْ بِالْعُرْفِ وَأَعْرِضْ عَنِ الْجَاهِلِينَ ]    الأعراف 199
“เจ้า(มุฮัมมัด) จงยึดถือไว้ซึ่งการให้อภัย และจงใช้ให้กระทำสิ่งที่ดี และจงผินหลังให้แก่บรรดาคนเขลาทั้งหลายเถิด”(อัลอะอฺรอฟ 
199)

และอีกอายะฮฺที่อัลลอฮฺ ทรงบอกถึงลักษณะของอิบาดุรเราะห์มาน เมื่อเจอพวกโง่เขลามาทักทาย ไว้ว่า

[ وَإِذَا خَاطَبَهُمُ الْجَاهِلُونَ قَالُوا سَلَامًا ]  الفرقان  63
“และเมื่อพวกโง่เขลากล่าวทักทายพวกเขา พวกเขาจะกล่าวว่า ศานติ”  (อัลฟุรกอน  63)

9.      เปลี่ยนท่าทางในขณะที่โกรธ เช่นหากโกรธในขณะทียืนอยู่ให้นั่งลง หากโกรธในสภาพที่นั่งก็ให้นอนตะแคงขวา

10.  อาบน้ำละหมาด เพื่อดับความโกรธที่มาจากชัยฏอนซึ่งถูกสร้างมาจากไฟ ดังหะดีษของท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม ได้กล่าวว่า
إنَّ الغَضبَ منَ الشَيطَانِ وإنَّ الشَيطَانَ خُلِقَ منَ النَارِ وإنَّمَا تُطْفَأُ النَّارُ بالمَاءِ فَإذَا غَضِبَ أَحَدُكُم فَلْيَتَوَضَّأْ
رواه أبو داود وغيره
“แท้จริงความโกรธนั้นมาจากชัยฏอน และแท้จริงชัยฏอนนั้นถูกสร้างมาจากไฟ และไฟนั้นจะถูกดับด้วยน้ำ ดังนั้นเมื่อคนหนึ่งคนในในหมู่พวกท่านโกรธ เขาจงอาบน้ำละหมาดเถิด” (รายงานโดยอบูดาวูด และท่านอื่นๆ)


والله أعلم



ความโกรธ


ความโกรธ



เรียบเรียงโดย  อิบนุมะฮฺดี

      ความโกรธ หมายถึง ความรุนแรงที่เกิดขึ้นจากความไม่พอใจ เป็นสิ่งที่ตรงกันข้ามกับความพอใจ  เป็นอารมณ์ที่เกิดขึ้นชั่วขณะทำให้มีความเครียดและมีความทุกข์ การที่คนๆหนึ่งโกรธ คือเขากำลังมีลักษณะที่รุนแรง อารมณ์โกรธ คือความต้องการที่จะให้เกิดอันตรายแก่ผู้ที่ถูกโกรธ หรือต้องการให้เกิดความเสียหาย อย่างไรก็ตามความโกรธนั้นมีทั้งความโกรธที่ถูกชื่นชม ความโกรธที่ถูกตำหนิ(เป็นที่ต้องห้าม) และความโกรธที่อนุโลม

ประเภทของความโกรธ

-        ความโกรธที่ถูกชมเชย คือ การโกรธเพื่ออัลลอฮฺ เพื่อปกป้องศาสนาของพระองค์ โกรธต่อการฝ่าฝืนอัลลอฮฺ โกรธต่อบรรดาศัตรูของอิสลาม โกรธต่อบรรดาผู้ที่อัลลอฮฺทรงโกรธกริ้วดังเช่น อิบลีส และบรรดาชัยฏอน หรือพวกยิว และหมู่ชนผู้ปฏิเสธฝ่าฝืน และตั้งตนเป็นผู้ทรยศต่ออัลลอฮฺ หรือผู้จะทำลายอิสลาม ซึ่งความโกรธนี้วางอยู่บนพื้นฐานของความดี ถือเป็นความโกรธที่ส่งเสริม และน่าชื่นชม ความโกรธนี้จะไม่นำสู่ความเสียหาย หรือความตกต่ำแต่อย่างใด แต่จะนำไปสู่ความเข้มแข็งต่อการสั่งใช้ในความดี ห้ามปรามความชั่ว และนำไปสู่ความเข้มแข็งต่อการต่อสู้กับศัตรูของอิสลาม  อัลลอฮฺ  ทรงตรัสว่า

[ مُّحَمَّدٌ رَّسُولُ اللَّهِ وَالَّذِينَ مَعَهُ أَشِدَّاء عَلَى الْكُفَّارِ رُحَمَاء بَيْنَهُم ]  الفتح  29
“มุฮัมมัดเป็นร่อซูลของอัลลอฮฺ และบรรดาผู้อยู่ร่วมกับเขาเป็นผู้เข้มแข็งกล้าหาญต่อพวกปฏิเสธศรัทธา เป็นผู้เมตตาสงสารระหว่างพวกเขาเอง”   (อัลฟัตหฺ  29)

และอีกอายะฮฺหนึ่งที่อัลลอฮฺ  ทรงตรัสว่า

[ يَا أَيُّهَا النَّبِيُّ جَاهِدِ الْكُفَّارَ وَالْمُنَافِقِينَ وَاغْلُظْ عَلَيْهِمْ ]  التحريم  9
“โอ้นบีเอ๋ย จงต่อสู้กับพวกปฏิเสธศรัทธาและพวกกลับกลอก และจงแข็งกร้าวกับพวกเขา” (อัตตะหฺรีม 9)

   เป็นคำสั่งของอัลลอฮฺ ให้มีความแข็งกร้าวรุนแรงต่อบรรดาผู้ปฏิเสธศรัทธาและพวกมุนาฟิก และโกรธพวกเขา อันเนื่องจากการปฏิเสธศรัทธาและการกลับกลอกของพวกเขาที่มีต่ออัลลอฮฺ และการเป็นศัตรูของพวกเขาต่อบรรดาผู้ศรัทธา
    และเสมือนความโกรธของท่านนบีมูซาที่มีต่อกลุ่มชนของท่าน ที่ได้สร้างเจว็ดรูปวัวขึ้นมาจากทองคำ และกราบไหว้มัน ขณะที่ท่านนบีมูซาขึ้นไปรับวะหฺยูจากอัลลอฮฺ ที่ภูเขาซีนาย ซึ่งก่อนหน้านี้พวกเขาพึ่งจะได้รับการช่วยเหลือจากอัลลอฮฺให้รอดพ้นจากฟิรอูน  ดังที่อัลลอฮฺ  ทรงกล่าวว่า

[ وَلَمَّا رَجَعَ مُوسَى إِلَى قَوْمِهِ غَضْبَانَ أَسِفاً قَالَ بِئْسَمَا خَلَفْتُمُونِي مِنْ بَعْدِي أَعَجِلْتُمْ أَمْرَ رَبِّكُمْ وَأَلْقَى الْأَلْوَاحَ وَأَخَذَ بِرَأْسِ أَخِيهِ يَجُرُّهُ إِلَيْهِ ]    الأعراف  150
“และเมื่อมูซาได้กลับมายังพวกพ้องของเขาด้วยความโกรธ และเสียใจ เขาได้กล่าวว่า ช่างเลวร้ายจริงๆ (ที่สร้างรูปปั้นวัวและสักการะมัน) ที่พวกท่านทำหน้าที่แทนฉัน  หลังจากฉัน(ไปพบอัลลอฮฺที่ภูเขาซีนาย) พวกท่านรีบกระทำก่อนจะมีคำสั่งจากพระผู้อภิบาลของพวกเจ้ากระนั้นหรือ และเขา(มูซา)ได้โยนแผ่นจารึกลง และจับศีรษะพี่ชายของเขา(นบีฮารูน) โดยดึงมายังเขา ”  (อัลอะอฺรอฟ  150)

และมีหะดีษที่บอกถึงความโกรธหรือเกลียดชังเพื่ออัลลอฮฺนั้นเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้อีหม่านสมบูรณ์ ท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม ได้กล่าวว่า

مَن أحبَّ للهِ وأبغَض للهِ وأعطى للهِ ومنَع للهِ فقد استكمَلَ الإيمانَ    رواه أبوداود
“บุคคลใดมีความรักเพื่ออัลลอฮฺ และเกลียดชังเพื่ออัลลอฮฺ และให้เพื่ออัลลอฮฺ และระงับ(ไม่ให้)เพื่ออัลลอฮฺ เขาย่อมมีอีหม่านที่สมบูรณ์แล้ว”  รายงานโดยอบูดาวูด

-        ความโกรธที่ถูกตำหนิ คือ การโกรธที่ไม่ได้ทำเพื่ออัลลอฮฺ และศาสนาของพระองค์ เช่น โกรธต่อคำตัดสินของอัลลอฮฺและร่อซูล โกรธต่อโองการต่างๆของอัลลอฮฺ โกรธและไม่พอใจต่อการกำหนดของอัลลอฮฺ โกรธต่อบทบัญญัติทางศาสนาที่สั่งใช้ในความดี และห้ามปรามความชั่ว เช่นความโกรธต่อการที่ศาสนาสั่งห้ามความชั่วบางประการที่เขาอยากทำ หรือโกรธต่อความดีที่ศาสนาใช้ให้กระทำ ดังเช่นผู้ปฏิเสธศรัทธาและพวกยิว ซึ่งความโกรธชนิดนี้เป็นเป็นที่ต้องห้ามสำหรับบรรดาผู้ศรัทธา จำเป็นจะต้องออกห่างจากมัน เพราะมันคือหนทางสู่ความชั่วร้าย ความเสียหาย และความตกต่ำ อัลลอฮฺ  ทรงกล่าวถึงคนประเภทนี้ว่า

[ وَإِذَا تُتْلَىٰ عَلَيْهِمْ آيَاتُنَا بَيِّنَاتٍ تَعْرِفُ فِي وُجُوهِ الَّذِينَ كَفَرُوا الْمُنكَرَ ۖ يَكَادُونَ يَسْطُونَ بِالَّذِينَ يَتْلُونَ عَلَيْهِمْ آيَاتِنَا ] الحج  72
“และเมื่อโองการทั้งหลายอันชัดแจ้งของเราได้ถูกนำมาอ่านแก่พวกเขา เจ้าจะสังเกตเห็นอาการบอกปัดไม่ยอมรับบนใบหน้าของบรรดาผู้ปฏิเสธศรัทธา พวกเขาเกือบจะเข้าไปทำร้ายบรรดาผู้ที่อ่านโองการทั้งหลายของเราให้พวกเขาฟัง”  (อัลฮัจญ์  72)

-       ความโกรธที่อนุโลม  คือ ความโกรธในเรื่องทั่วไปที่มิได้เป็นการฝ่าฝืนต่ออัลลอฮฺ ไม่ได้เป็นบาป และไม่เกินเลยขอบเขตของศาสนา เพราะปฏิเสธไม่ได้ว่าความโกรธนั้นเป็นอารมณ์ที่เกิดขึ้นกับคนทุกคนแม้กระทั่งผู้ศรัทธา แต่อยู่ที่แต่ละคนจะรับมือกับความโกรธนั้นอย่างไร  เช่นการโกรธต่อคำพูดของคนหยาบคายที่มีต่อเรา โกรธต่อพฤติกรรมของผู้อื่นที่ทำไม่ดีกับเรา กระนั้นก็ตามการอดทนและให้อภัยนั้นย่อมดี และเป็นมารยาทที่ประเสริฐยิ่งกว่า เพราะความโกรธไม่ว่าเรื่องใดที่มิได้เป็นไปเพื่ออัลลอฮฺนั้นย่อมพาเราไปสู่ความตกต่ำในที่สุด และการอดทนและให้อภัยเมื่อโกรธนั้นเป็นคุณลักษณะของผู้ที่อัลลอฮฺ ทรงรัก และชื่นชม ดังที่อัลลอฮฺ ทรงตรัสว่า
 [ وَالَّذِينَ يَجْتَنِبُونَ كَبَائِرَ الْإِثْمِ وَالْفَوَاحِشَ وَإِذَا مَا غَضِبُوا هُمْ يَغْفِرُونَسورة الشورى 37
“และบรรดาผู้หลีกเลี่ยงการทำบาปใหญ่และการทำลามก และเมื่อพวกเขาโกรธพวกเขาก็ให้อภัย” (อัชชูรอ 37)

และอายะฮฺที่ว่า
[الَّذِينَ يُنفِقُونَ فِي السَّرَّاء وَالضَّرَّاء وَالْكَاظِمِينَ الْغَيْظَ وَالْعَافِينَ عَنِ النَّاسِ وَاللّهُ يُحِبُّ الْمُحْسِنِينَ] آل عمران  134
“บรรดาผู้ซึ่งบริจาคทั้งในยามสุขสบายและในยามเดือดร้อน และบรรดาผู้ข่มโทสะ และบรรดาผู้ให้อภัยแก่เพื่อนมนุษย์และอัลลอฮฺนั้นทรงรักบรรดาผู้กระทำดีทั้งหลาย” (อาลิอิมรอน 134)

   ความโกรธไม่ว่าเรื่องใดที่มิได้โกรธเพื่ออัลลอฮฺจะมีชัยฏอนที่เป็นผู้คอยสนับสนุน ซึ่งมันเป็นศัตรูที่ชัดแจ้งสำหรับมนุษย์ ความโกรธนี้จึงจำเป็นจะต้องทำการรักษาและขจัดออกไปจากตัวผู้ศรัทธาทุกครั้งที่โกรธ อัลลอฮฺ ทรงตรัสว่า

 [ وَإِمَّا يَنْزَغَنَّكَ مِنَ الشَّيْطَانِ نَزْغٌ فَاسْتَعِذْ بِاللَّهِ إِنَّهُ هُوَ السَّمِيعُ الْعَلِيمُ ]   فصلت 36
และหากว่าการยุแหย่ใดๆจากชัยฏอนมายั่วยุเจ้า ดังนั้นเจ้าก็จงขอความคุ้มครองต่ออัลลอฮฺเถิด แท้จริงพระองค์ทรงเป็นผู้ทรงได้ยิน ผู้ทรงรอบรู้ (ฟุศศิลัต 36)

และหะดีษของท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม ได้กล่าวว่า

إنَّ الغَضبَ منَ الشَيطَانِ وإنَّ الشَيطَانَ خُلِقَ منَ النَارِ وإنَّمَا تُطْفَأُ النَّارُ بالمَاءِ فَإذَا غَضِبَ أَحَدُكُم فَلْيَتَوَضَّأْ   
رواه أبو داود
แท้จริงความโกรธนั้นมาจากชัยฏอน และแท้จริงชัยฏอนนั้นถูกสร้างมาจากไฟ และไฟนั้นจะถูกดับด้วยน้ำ ดังนั้นเมื่อคนหนึ่งคนในในหมู่พวกท่านโกรธ เขาจงอาบน้ำละหมาดเถิด (รายงานโดยอบูดาวูด)

والله أعلم