วันศุกร์ที่ 26 พฤษภาคม พ.ศ. 2560

ภาคผลแห่งการให้ความช่วยเหลือต่อกัน



ภาคผลแห่งการให้ความช่วยเหลือต่อกัน


เรียบเรียงโดย อิบนุมะฮฺดี


        ศาสนาอิสลามนั้นกำชับให้บรรดาผู้ศรัทธานั้นตระหนักถึงความเป็นพี่น้องกัน ที่ต้องรักใคร่กัน ต้องให้ความช่วยเหลือซึ่งกันและกันในความดีก็เพื่อเป็นประโยชน์แก่พวกเขาเองทั้งสิ้น คำสั่งใช้หรือคำสั่งห้ามใดๆของศาสนาอิสลามที่มาจากอัลลอฮฺและร่อซูลของพระองค์ ล้วนแล้วแต่ก่อให้เกิดประโยชน์และความสงบสุขแก่วิถีชีวิตของมนุษย์เองทั้งสิ้น หนึ่งในคำสั่งใช้ของอัลลอฮฺ ซุบฮานะฮูวะตะอาลา ที่เรียกร้องให้บรรดาผู้ศรัทธาทำนั่น คือ การให้ความช่วยเหลือซึ่งกันและกัน  ดังที่อัลลอฮฺ ซุบฮานะฮูวะตะอาลา ทรงตรัสว่า

سورة المائدة  2  (وَتَعَاوَنُواْ عَلَى الْبَرِّ وَالتَّقْوَى وَلاَ تَعَاوَنُواْ عَلَى الإِثْمِ وَالْعُدْوَانِ)
และพวกจงช่วยเหลือกันในสิ่งที่เป็นคุณธรรม และความยำเกรง และจงอย่าช่วยเหลือกันในสิ่งที่เป็นบาป และเป็นศัตรูกัน (ซูเราะห์อัลมาอิดะห์ อายะห์ที่ 2)

การให้ความช่วยเหลือต่อกันนั้น นำมาซึ่งภาคผล และประโยชน์ต่างๆมากมาย ได้แก่

·        สร้างความสุขให้เกิดขึ้น

          การให้ความช่วยเหลือซึ่งกันและกันนั้น สร้างความสุขให้เกิดขึ้นแก่ผู้คนในสังคม และนำมาซึ่งความสุขแก่ตัวผู้ให้ความช่วยเหลือเองด้วย เพราะคงไม่มีใครที่เขาได้ให้ความช่วยเหลือแก่ผู้อื่นในความดีและมันจะนำมาซึ่งความเศร้า ความเสียใจในภายหลัง แต่ทว่าโดยปกติ ธรรมชาติของมนุษย์นั้นเมื่อได้ช่วยเหลือผู้อื่นมันจะนำมาซึ่งความสุขแก่เขา ความสุขที่เกิดขึ้นจากระบบแห่งการให้ความช่วยเหลือต่อกันและกันนั้น สร้างประโยชน์และความสุขให้แก่ทุกๆฝ่าย ทั้งผู้ให้ ผู้รับ หรือแม้กระทั่งผู้ที่ไม่ได้เป็นทั้งผู้ให้และผู้รับ แต่ก็ย่อมมีความสุขเมื่อได้เห็นผู้อื่นให้ความช่วยเหลือต่อกัน คือไม่ต้องเป็นผู้ให้หรือผู้รับก็จะมีความสุขเมื่อเห็นผู้อื่นให้ความช่วยเหลือต่อกัน ดังนั้นศาสนาอิสลามจึงได้กำชับแก่บรรดาผู้ศรัทธาให้ให้ความสำคัญต่อการให้ความช่วยเหลือต่อกัน เพื่อสร้างความสุขให้เกิดขึ้นแก่ตนเอง ให้แก่ผู้อื่น ให้แก่ผู้คนในสังคมทั้งหมด

          และการให้ความช่วยเหลือต่อกันนั้นไม่เพียงสร้างความสุขแก่ชีวิตในโลกดุนยานี้เท่านั้นแต่จะนำไปสู่การได้รับความสุขในชีวิตแห่งโลกอาคิเราะห์ด้วย เพราะการให้ความช่วยเหลือนั้นเป็นส่วนหนึ่งของคุณธรรม การงานที่ดี และอัลลอฮฺ ซุบฮานะฮูวะตะอาลา ทรงยืนยันว่า ความดีนั้นทำให้เกิดความสุข ผู้ที่ทำความดีนั้นย่อมอยู่ในความโปรดปรานของอัลลอฮฺในวันกิยามะห์ ดังที่พระองค์ทรงตรัสว่า

 (إِنَّ الْأَبْرَارَ لَفِي نَعِيمٍ)  سورة المطففين  22
“แท้จริงบรรดาผู้ทรงคุณธรรมจะอยู่ในความโปรดปรานอย่างแน่นอน(ซูเราะห์อัลมุฏ็อฟฟิฟีน อายะห์ที่ 22)


·        สร้างความรักให้เกิดขึ้น

         การให้ความช่วยเหลือซึ่งกันและกันในความดีนั้นยังเป็นเครื่องบ่งชี้ถึงความรักที่มีต่อกันระหว่างผู้ศรัทธา ผู้ศรัทธานั้นสัญลักษณ์ของพวกเขาคือ การให้ความช่วยเหลือกัน เกื้อกูลต่อกัน และพวกเขานั้นจะได้รับความเอ็นดูเมตตาจากอัลลอฮฺ ตะอาลา เนื่องจากที่พวกเขานั้นได้เอ็นดูเมตตาต่อกันและกัน ดังที่อัลลอฮฺ ตะอาลา ทรงตรัสว่า

(وَالْمُؤْمِنُونَ وَالْمُؤْمِنَاتُ بَعْضُهُمْ أَوْلِيَاءُ بَعْضٍ  يَأْمُرُونَ بِالْمَعْرُوفِ وَيَنْهَوْنَ عَنِ الْمُنكَرِ وَيُقِيمُونَ الصَّلاَةَ وَيُؤْتُونَ الزَّكَاةَ وَيُطِيعُونَ اللَّهَ وَرَسُولَهُ  أُوْلَئِكَ سَيَرْحَمُهُمُ اللَّهُ إِنَّ اللَّهَ عَزِيزٌ حَكِيمٌ)  سورة التوبة  71
 “และบรรดาผู้ศรัทธาชาย และบรรดาผู้ศรัทธาหญิงนั้น บางส่วนของพวกเขาต่างเป็นผู้ช่วยเหลืออีกบางส่วน ซึ่งพวกเขาจะใช้ให้ปฏิบัติในสิ่งที่ดีและห้ามปรามในสิ่งที่ชั่ว และพวกเขาจะดำรงไว้ซึ่งการละหมาดและจ่ายซะกาต และภักดีต่ออัลลอฮฺ และรอซูลของพระองค์  ชนเหล่านี้แหละ อัลลอฮฺจะทรงเอ็นดูเมตตาแก่พวกเขา แท้จริงอัลลอฮฺนั้นเป็นผู้ทรงเดชานุภาพ ผู้ทรงปรีชาญาณ  (ซูเราะห์อัตเตาบะฮฺ อายะห์ที่ 71)

        และการช่วยเหลือต่อกันนั้นยังส่งผลให้เกิดความรักใคร่ กลมเกลียวกันระหว่างบรรดาผู้ศรัทธาที่มากขึ้นๆ เพราะบรรดาผู้ศรัทธานั้นเมื่อพวกเขาให้ความช่วยเหลือซึ่งกันและกัน มันจะขจัดซึ่งความเห็นแก่ตัว ความอิจฉาต่อกัน หรือความคิดที่ไม่ดีต่อกันออกไปจากพวกเขา เท่ากับว่า การช่วยเหลือต่อกันนั้นมันได้เพิ่มพูนความรัก ความเมตตา ความเอื้อเฟื้อต่อกัน ให้หัวใจของผู้ศรัทธา และขจัดซึ่งความเกลียดชัง อิจฉาริษยา เห็นแก่ตัว ออกไปจากหัวใจผู้ศรัทธา และพวกเขาจะได้รับความเอ็นดูเมตตาจากอัลลอฮฺ ซุบฮานะฮูวะตะอาลา ในสิ่งที่พวกได้ช่วยเหลือกัน

        คุณลักษณะหนึ่งของบรรดาผู้ศรัทธาคือพวกเขามีความรักกัน และให้ความช่วยเหลือซึ่งกันและกัน เพราะพวกเขานั้นเปรียบเสมือนเรือนร่างเดียวกัน  หากส่วนหนึ่งส่วนใดเจ็บปวดส่วนอื่นก็จะได้รับผลกระทบด้วย  ดังที่มีรายงานจากท่าน นัวอฺมาน อิบนิบะชีร ร่อฎิยัลลอฮุอันฮุมา กล่าวว่า  ท่านรอซูล ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม ได้กล่าวว่า

مَثَلُ الْمُؤْمِنِينَ فِي تَوَادِّهِمْ وَتَرَاحُمِهِمْ وَتَعَاطُفِهِمْ مَثَلُ الْجَسَدِ؛ إِذَا اشْتَكَى مِنْهُ عُضْوٌ تَدَاعَى لَهُ سَائِرُ الْجَسَدِ بِالسَّهَرِ وَالْحُمَّى
“เปรียบเทียบบรรดาผู้ศรัทธาในด้านความรัก ความเอ็นดูเมตตา และการให้ความช่วยเหลือเกื้อกูลของพวกเขาที่มีต่อกันนั้นเหมือนกับร่างกายเดียวกัน กล่าวคือ เมื่ออวัยวะส่วนใดส่วนหนึ่งเจ็บปวด อวัยวะส่วนอื่นๆของร่างกายก็จะเจ็บปวดไปด้วยทั่วร่างกายทำให้ให้นอนไม่หลับ เกิดอาการไข้”    (รายงานโดยบุคอรีย์และมุสลิม)


·        ทำให้เกิดการพัฒนาของสังคม ความสามัคคีและความสงบสุขของผู้คนในสังคม

         สังคมที่พัฒนานั้นคือสังคมที่ผู้คนต่างให้ความช่วยเหลือซึ่งกันและกันในความดี การช่วยเหลือกันนั้นคือกุญแจแห่งการพัฒนา กิจการต่างๆในสังคมนั้นจะประสบความสำเร็จและมีประสิทธิภาพหากมีการช่วยเหลือซึ่งกันและกัน สังคมที่มีการช่วยเหลือกันนั้นย่อมบ่งบอกถึงสังคมที่พัฒนาและมีคุณภาพ เป็นสังคมที่สงบสุข ผู้คนในสังคมมีความสามัคคีต่อกัน ไม่เป็นศัตรูต่อกัน ไม่ทำร้ายไม่อธรรมต่อกัน แต่ผู้คนต่างก็สนับสนุนกันในความดีและช่วยเหลือกันในสิ่งที่เดือดร้อน  และแน่นอนหากว่าผู้คนในสังคมนั้น ไม่มีการให้ความช่วยเหลือซึ่งกันและกัน นั่นย่อมจะนำผู้คนในสังคมไปสู่ความล้าหลัง ความแตกแยก ความวุ่นวายในสังคม ที่ผู้คนมีความตระหนี่ เห็นแก่ตัว แก่งแย่งชิงดีกัน มีการละเมิด การอธรรมต่อกันเพื่อให้ได้สิ่งที่ตนต้องการมา สังคมย่อมไม่เกิดการพัฒนาและผู้คนก็แตกความสามัคคี และในที่สุดสังคมก็จะล่มสลาย ความพินาศ ดังหะดีษที่ว่า
รายงานจากท่านญาบิร บินอับดุลลอฮฺ ร่อฎิยัลลอฮุอันฮุ ว่า ท่านนบีมุฮัมมัด ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม ได้กล่าวว่า

(اتَّقُوا الظُّلْمَ فَإِنَّ الظُّلْمَ ظُلُمَاتٌ يَوْمَ الْقِيَامَةِ وَاتَّقُوا الشُّحَّ فَإِنَّ الشُّحَّ أَهْلَكَ مَنْ كَانَ قَبْلَكُمْ حَمَلَهُمْ عَلَى أَنْ سَفَكُوا دِمَاءَهُمْ وَاسْتَحَلُّوا مَحَارِمَهُمْ)  رواه مسلم
“ท่านทั้งหลายจงระวังการอธรรมเถิด เพราะแท้จริงการอธรรมนั้นคือความมืดมนต่างๆในวันกิยามะห์ และท่านทั้งหลายจงระวังความตระหนี่ เพราะแท้จริงมันเคยทำลายผู้คนในยุคก่อนพวกท่านให้พินาศมาแล้ว มัน(ความตระหนี่)ทำให้พวกเขาต้องหลั่งเลือดกัน และทำให้พวกเขาถือเอาสิ่งที่ต้องห้ามละเมิดกลายเป็นที่อนุมัติ”   (รายงานโดยมุสลิม)


·        ได้รับการตอบแทนจากส่วนความดีที่ได้ช่วยเหลือไป

        ภาคผลแห่งการให้ความช่วยเหลือซึ่งกันและกันของมนุษย์นั้นก็มีต่อตัวของมนุษย์เอง ที่เขาจะได้รับผลประโยชน์จากการให้ความช่วยเหลือต่อกันและกัน อัลลอฮฺ ซุบฮานะฮูวะตะอาลา ทรงตรัสว่า

 سورة النساء  85(مَّن يَشْفَعْ شَفَاعَةً حَسَنَةً يَكُن لَّهُ نَصِيبٌ مِّنْهَا)
ผู้ใดที่ให้ความช่วยเหลือย่างดีก็จะเป็นของเขา ซึ่งส่วนหนึ่งจากความดีนั้น(ซูเราะห์อันนิซาอฺ อายะห์ที่ 85)

        ภาคผลแห่งการให้ความช่วยเหลือในความดีนั้น สำหรับผู้ที่ให้ความช่วยเหลือเขาก็จะได้รับส่วนการตอบแทนในการช่วยเหลือนั้นทั้งในดุนยาและอาคิเราะห์ สำหรับในดุนยานั้นเมื่อเขาได้ให้ความช่วยเหลือผู้อื่นไปเขาก็จะได้รับการช่วยเหลือตอบแทนจากผู้อื่นเช่นเดียวกันด้วยอนุมัติของอัลลอฮฺ หากเขาให้ความช่วยเหลือผู้คน ผู้คนก็จะให้ความช่วยเหลือเขาเช่นกัน จึงเกิดวงจรแห่งการให้ความช่วยเหลือซึ่งกันและกัน และสำหรับในอาคิเราะห์นั้นเขาก็จะได้รับการตอบแทนจากผลบุญแห่งการช่วยเหลือที่เขาทำไว้ในดุนยา หากช่วยเหลือผู้อื่นในความดีแล้วทำให้เกิดการทำความดีมากขึ้น ผู้ที่ให้การช่วยเหลือก็จะได้รับส่วนของความดีที่ผู้คนทำด้วย โดยไม่ถูกตัดทอนแต่อย่างใด และแน่นอนการให้ความช่วยเหลือในความชั่วนั้น เขาก็จะได้รับส่วนของความชั่วในโลกดุนยานี้และได้รับการลงโทษของอัลลอฮฺในโลกอาคิเราะห์ด้วย ดังที่อัลลอฮฺ ทรงตรัสว่า

سورة النساء  85 (وَمَن يَشْفَعْ شَفَاعَةً سَيِّئَةً يَكُن لَّهُ كِفْلٌ مِّنْهَا ۗ وَكَانَ اللَّهُ عَلَىٰ كُلِّ شَيْءٍ مُّقِيتًا)
“และผู้ใดให้ความช่วยเหลือย่างชั่ว ก็จะเป็นของเขา ซึ่งส่วนหนึ่งจากความชั่วนั้น และปรากฏว่าอัลลอฮฺนั้นทรงเดชานุภาพเหนือทุกสิ่งทุกอย่าง” (ซูเราะห์อันนิซาอฺ อายะห์ที่ 85)

และหะดีษของท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม รายงานจากท่านอบูมูซา อัลอัชอะรีย์ ร่อฎิยัลลอฮุอันฮุ ได้เล่าว่า

(كَانَ رَسُولُ اللَّهِ صَلَّى اللهُ عَلَيْهِ وَسَلَّمَ إِذَا جَاءَهُ السَّائِلُ، أَوْ طلِبَتْ إِلَيْهِ حَاجَةٌ، قَالَ: اشْفَعُوا تُؤْجَرُوا، وَيَقْضِي اللَّهُ عَلَى لِسَانِ نَبِيِّهِ صَلَّى اللهُ عَلَيْهِ وَسَلَّمَ مَا شَاءَ)  رواه البخاري ومسلم
“ท่านร่อซูล ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม เมื่อมีผู้ร้องขอความช่วยเหลือหรือต้องการความช่วยเหลือมาหาท่าน ท่านร่อซูลได้กล่าว(แก่บรรดาศอฮาบะห์)ว่า : พวกท่านจงให้ความช่วยเหลือ พวกท่านจะได้รับผลตอบแทน และอัลลอฮฺจะจัดการให้ลุล่วงตามคำพูดของนบีของพระองค์ ตามที่พระองค์ทรงประสงค์” (รายงานโดยบุคอรีย์ และมุสลิม)


·        ได้รับการช่วยเหลือและการตอบแทนที่ยิ่งใหญ่ทั้งในโลกดุนยาและโลกอาคิเราะห์

            การให้ความช่วยเหลือต่อกันนั้นย่อมนำมาซึ่งการตอบแทนที่ยิ่งใหญ่และสร้างประโยชน์ให้แก่กันและกัน ผู้ได้รับการช่วยเหลือก็ได้สิ่งที่เขาต้องการหรือได้ขจัดสิ่งที่เดือดร้อน ในขณะที่ผู้ให้การช่วยเหลือก็จะได้รับการช่วยเหลือตอบจากผู้อื่นในโลกดุนยาด้วยประสงค์ของอัลลอฮฺและได้รับผลบุญการตอบแทนอันยิ่งใหญ่จากอัลลอฮฺในโลกอาคิเราะห์ 

        ดังนั้น ภาคผลแห่งการให้ความช่วยเหลือต่อกันนั้น จะได้รับทั้งในขณะที่มีชีวิตอยู่ในโลกดุนยา และชีวิตในโลกอาคิเราะห์ด้วย   ดังหะดีษที่มีรายงานจากท่านอบีฮุร็อยเราะห์ ร่อฎิยัลลอฮุอันฮุ จากท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม กล่าวว่า

(مَنْ نَفَّسَ عَنْ مُؤْمِنٍ كُرْبَةً مِنْ كُرَبِ الدُّنْيَا نَفَّسَ اللهُ عَنْهُ كُرْبَةً مِنْ كُرَبِ يَوْمِ الْقِيَامَةِ، وَمَنْ يَسَّرَ عَلَى مُعْسِرٍ يَسَّرَ اللهُ عَلَيْهِ فِي الدُّنْيَا وَالْآخِرَةِ، وَمَنْ سَتَرَ مُسْلِمًا سَتَرَهُ اللهُ فِي الدُّنْيَا وَالآخِرَةِ، وَاللهُ فِي عَوْنِ الْعَبْدِ مَا كَانَ الْعَبْدُ فِي عَوْنِ أَخِيهِ) رواه مسلِم
 “ผู้ใดก็ตามที่ช่วยให้มุสลิม(ผู้ศรัทธา)หลุดพ้นจากความทุกข์อย่างหนึ่งจากบรรดาความทุกข์แห่งดุนยา อัลลอฮฺจะทรงปลดปล่อยเขา(จาก)ความทุกข์หนึ่งของบรรดาความทุกข์ในวันกิยามะฮฺ และผู้ใดให้ความสะดวกแก่ผู้ที่กำลังยากลำบาก อัลลอฮฺจะทรงให้ความสะดวกแก่เขาทั้งในโลกนี้และอาคิเราะฮฺ และผู้ใดปกปิดความอับอายของมุสลิม อัลลอฮฺจะทรงปิดความอับอายของเขาทั้งในโลกนี้และอาคิเราะฮฺ อัลลอฮฺพร้อมที่จะช่วยเหลือบ่าวของพระองค์ ตราบที่บ่าวคนนั้นชอบที่จะช่วยเหลือพี่น้องของเขา   (รายงานโดยมุสลิม)

         ท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม ได้พูดถึง ภาคผลแห่งการให้ความช่วยเหลือนั้น มันมีผลทั้งในโลกนี้และโลกหน้า โดยท่านนบีได้บอกให้ทราบถึงความเกี่ยวเนื่องกันระหว่างโลกดุนยา ซึ่งเป็น โลกแห่งการงาน(دار العمل) และโลกอาคิเราะห์ ซึ่งเป็น โลกแห่งการตอบแทน(دار الجزاء) ว่าการงานแห่งการช่วยเหลือพี่น้องมุสลิมในโลกดุนยา จะกลายเป็นการตอบแทนในโลกอาคิเราะห์  ซึ่งสามารถบอกได้ว่าสำหรับมนุษย์นั้น โลกดุนยานั้นคือโลกแห่งการให้ความช่วยเหลือ และโลกอาคิราะห์นั้นคือโลกแห่งการได้รับความช่วยเหลือและตอบแทนอย่างสมบูรณ์และเพิ่มพูนด้วย เพราะแม้ว่าการตอบแทนแก่ผู้ให้การช่วยเหลือนั้นจะได้รับในดุนยาขณะที่มีชีวิตอยู่ด้วยก็ตาม แต่ทว่าเขาจะได้รับอีกครั้งอย่างครบถ้วนสมบูรณ์นั้นในโลกอาคิเราะห์

         โดยท่านนบีก็เน้นย้ำไปที่ภาคผลของการให้ความช่วยเหลือต่อพี่น้องมุสลิม ผู้ศรัทธา ในด้านต่างๆที่ภาคผลที่ผู้ให้การช่วยเหลือจะได้รับนั้นขึ้นอยู่กับการให้ความช่วยเหลือของเขา  โดยท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม ได้อธิบายว่า ผู้ใดที่ให้การช่วยเหลือต่อพี่น้องมุสลิมโดยการช่วยให้เขาหลุดพ้นจากความทุกข์อย่างหนึ่งในโลกดุนยา อัลลอฮฺจะทรงให้ความช่วยเหลือแก่เขาโดยขจัดซึ่งความทุกข์หนึ่งในวันกิยามะห์ ซึ่งความทุกข์ในวันกิยามะห์นั้นรุนแรงสาหัสยิ่งกว่าความทุกข์ที่ได้รับในโลกดุนยาแน่นอน หากช่วยเหลือหรือให้ความสะดวกง่ายดายแก่ผู้ที่กำลังประสบกับความยากลำบาก อัลลอฮฺจะทรงให้ความสะดวกง่ายดายแก่เขาในชีวิตทั้งดุนยาและอาคิเราะห์ ซึ่งความยากลำบากในอาคิราะห์รุนแรงยิ่งกว่าความยากลำบากในดุนยาเช่นกัน หากช่วยเหลือพี่น้องมุสลิมโดยการปกปิดความผิดที่น่าละอายของพี่น้องมุสลิม โดยไม่เอามาประจานหรือสร้างความเสียหาย อัลลอฮฺก็จะทรงปกปิดความผิดที่น่าอับอายให้ทั้งในโลกดุนยาและโลกอาคิเราะห์ ซึ่งความน่าอับอายในโลกอาคิเราะห์ต่อความผิดนั้นก็มีมากกว่าโลกดุนยาเช่นกัน และอัลลอฮฺนั้นพร้อมที่จะให้ความช่วยเหลือต่อบ่าวของพระองค์ ตราบเท่าที่บ่าวคนนั้นยังคงหมกมุ่นอยู่ในการให้ความช่วยเหลือต่อพี่น้องมุสลิมของเขา ซึ่งความช่วยเหลือที่อัลลอฮฺให้บ่าวนั้นย่อมยิ่งใหญ่กว่าความช่วยเหลือที่บ่าวให้แก่กัน

         ดังนั้นภาคผลแห่งการให้ความช่วยเหลือที่จะได้รับจากอัลลอฮฺ ซุบฮานะฮูวะตะอาลานั้น มีมากกว่าความช่วยเหลือที่มนุษย์ให้แก่กัน ซึ่งการที่จะได้รับการตอบแทนและการช่วยเหลือจากอัลลอฮฺนั้นขึ้นอยู่ที่การให้การช่วยเหลือของเราที่มีต่อพี่น้องมุสลิม  ยิ่งเราให้ความช่วยเหลือต่อพี่น้องมุสลิมมากเพียงใด อัลลอฮฺก็จะทรงให้การช่วยเหลือเราที่มากยิ่งกว่า


          การให้ความช่วยเหลือต่อกันนั้น ภาคผลที่ได้รับนั้นยิ่งใหญ่ มหาศาลกว่าสิ่งที่ได้ทำไป การตอบแทนนั้นยิ่งใหญ่และมากกว่าการงานที่ได้ทำไปอย่างแน่นอน การลงทุนที่ไม่มีทางขาดทุนนั่นคือการลงทุนต่อการทำความดี การให้ความช่วยเหลือต่อกันในความดี กำไรที่ได้รับนั้นย่อมมากกว่าสิ่งที่ได้ลงทุนไป  นี่คือความเมตตาของอัลลอฮฺ ซุบฮานะฮูวะตะอาลา ดังนั้นสำหรับบรรดาผู้ศรัทธานั้นก็ไม่ควรที่จะปล่อยโอกาสของการได้รับการตอบแทนอันยิ่งใหญ่ โดยการปล่อยโอกาสที่จะช่วยเหลือพี่น้องมุสลิมให้หลุดลอยไปเป็นอันขาด หากว่าเราได้ละทิ้งหรือพลาดโอกาสแห่งการช่วยเหลือไป นั่นเท่ากับว่าเราได้พลาดโอกาสแห่งการได้รับความดี ได้รับการตอบแทนที่ยิ่งใหญ่ไปด้วย



วัลลอฮุอะอฺลัม


ความสำคัญของการให้ความช่วยเหลือต่อกัน



ความสำคัญของการให้ความช่วยเหลือต่อกัน


เรียบเรียงโดย อิบนุมะฮฺดี


          ศาสนาอิสลามนั้นได้ให้ความสำคัญกับเรื่องการให้ความช่วยเหลือต่อกันและกันเป็นอย่างมาก จนถึงขนาดให้บรรดาผู้ศรัทธานั้นตระหนักว่า พวกเขานั้นเป็นพี่น้องกัน  ซึ่งแน่นอนในความเป็นพี่น้องนั้น ต้องมีความรักใคร่ต่อกัน เป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน และสิ่งที่ขาดไปไม่ได้เลยนั่นก็คือ การให้ความช่วยเหลือซึ่งกันและกัน และย้ำเตือนว่าอย่าได้ปล่อยให้เกิดความเกลียดชังกันหรือการเป็นศัตรูกันเป็นอันขาด

ดังที่อัลลอฮฺ ซุบฮานะฮู ตะอาลา ทรงตรัสว่า

سورة الحجرات 10     (إِنَّمَا الْمُؤْمِنُونَ إِخْوَةٌ فَأَصْلِحُوا بَيْنَ أَخَوَيْكُمْ وَاتَّقُوا اللَّهَ لَعَلَّكُمْ تُرْحَمُونَ)
“แท้จริงบรรดาผู้ศรัทธานั้นเป็นพี่น้องกัน ดังนั้นพวกเจ้าจงไกล่เกลี่ยประนีประนอมกันระหว่างพี่น้องทั้งสองฝ่ายของพวกเจ้า และจงยำเกรงอัลลอฮฺเถิด หวังว่าพวกเจ้าจะได้รับความเมตตา  (ซูเราะห์อัลหุญุรอต อายะห์ที่ 10)

และหะดีษรายงานจากท่าน นัวอฺมาน อิบนิบะชีร ร่อฎิยัลลอฮุอันฮุมา กล่าวว่า  ท่านรอซูล ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม ได้กล่าวว่า

مَثَلُ الْمُؤْمِنِينَ فِي تَوَادِّهِمْ وَتَرَاحُمِهِمْ وَتَعَاطُفِهِمْ مَثَلُ الْجَسَدِ؛ إِذَا اشْتَكَى مِنْهُ عُضْوٌ تَدَاعَى لَهُ سَائِرُ الْجَسَدِ بِالسَّهَرِ وَالْحُمَّى
“เปรียบเทียบบรรดาผู้ศรัทธาในด้านความรัก ความเอ็นดูเมตตา และการให้ความช่วยเหลือเกื้อกูลของพวกเขาที่มีต่อกันนั้นเหมือนกับร่างกายเดียวกัน กล่าวคือ เมื่ออวัยวะส่วนใดส่วนหนึ่งเจ็บปวด อวัยวะส่วนอื่นๆของร่างกายก็จะเจ็บปวดไปด้วยทั่วร่างกายทำให้ให้นอนไม่หลับ เกิดอาการไข้”    (รายงานโดยบุคอรีย์และมุสลิม)

และหะดีษรายงานจากท่านอบีมูซาอัลอัชอะรีย์ ร่อฎิยัลลอฮุอันฮุ เล่าว่าท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม ได้กล่าวว่า

 رواه البخاري  (وَشَبَّكَ بَيْنَ أَصَابِعِه الْمُؤْمنُ لِلْمُؤْمِنِ كَالْبُنْيَانِ يَشُدُّ بَعْضُهُ بَعْضًا)
ผู้ศรัทธากับผู้ศรัทธานั้น เปรียบดังเช่น อาคารที่บางส่วนของมันยึดติดกับอีกบางส่วน และท่านได้ประสานนิ้วมือของท่านเข้าหากัน  (รายงานโดยบุคอรีย์)

        คนเป็นพี่น้องกันย่อมมีความรักใคร่ต่อกัน เอ็นดูเมตตาต่อกัน ไม่ละเมิดต่อกัน ไม่ทำร้ายกัน ช่วยเหลือเกื้อกูลต่อกันและให้ความช่วยเหลือเมื่อพี่น้องของเดือดร้อน ลำบาก นี่คือความเป็นพี่น้องต่อกัน อาคารหลังเดียวกันองค์ประกอบต่างๆย่อมคอยค้ำจุนซึ่งกันและกัน หากส่วนหนึ่งส่วนใดเสียหาย ชำรุด ย่อมส่งผลกระทบไปยังส่วนอื่นๆของอาคารเช่นกัน

        ศาสนาอิสลามนั้นกำชับให้ผู้ศรัทธานั้นไม่ละเลยต่อหน้าที่ที่ตนเองจะต้องปฏิบัติต่อผู้อื่น เสมือนที่ตนเองนั้นก็ได้รับความช่วยเหลือมาจากผู้อื่น คือ เมื่อได้มาก็ต้องให้ไป เมื่อเป็นผู้รับแล้วก็ต้องเป็นผู้ให้ มนุษย์ทุกคนได้รับความช่วยเหลือ ดังนั้นมนุษย์ทุกคนก็ต้องให้ความช่วยเหลือเช่นกัน นี่คือวงจรแห่งรับและให้ความช่วยเหลือ และแน่นอน เมื่อเป็นผู้ให้แล้วก็จะได้รับต่ออีกเช่นกัน  ดังเช่นที่อัลลอฮฺ ซุบฮานะฮูวะตะอาลา ทรงตรัสว่า

(مَّن يَشْفَعْ شَفَاعَةً حَسَنَةً يَكُن لَّهُ نَصِيبٌ مِّنْهَا)  سورة النساء  85
บุคคลใดให้ความช่วยเหลืออย่างดี เขามีสิทธิ์ได้รับส่วนดีจากความช่วยเหลือนั้น (ซูเราะห์อันนิซาอฺ อายะห์ที่ 85)

และหะดีษรายงานจากท่านอบีฮุร็อยเราะห์ ร่อฎิยัลลอฮุอันฮุ ได้กล่าวว่า ท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม ได้กล่าวว่า

 (وَاللهُ فِي عَوْنِ الْعَبْدِ مَا كَانَ الْعَبْدُ فِي عَوْنِ أَخِيهِ)  رواه مسلِم
“อัลลอฮฺพร้อมที่จะช่วยเหลือบ่าวของพระองค์ ตราบที่บ่าวคนนั้นยังคงอยู่ในการช่วยเหลือพี่น้องของเขา” (รายงานโดยมุสลิม)

       และอัลลอฮฺ ซุบฮานะฮูวะตะอาลา ได้ทรงวางหลักเกณฑ์แห่งการให้ความช่วยเหลือต่อกันและกันไว้ว่า จะต้องให้การช่วยเหลือต่อกันในเรื่องของคุณธรรมความดี และความยำเกรง(การเชื่อฟังอัลลอฮฺและไม่ฝ่าฝืนพระองค์) และห้ามการช่วยเหลือกันในความชั่วและการเป็นศัตรูกันเป็นอันขาด  ดังที่อัลลอฮฺ ตะอาลา ทรงตรัสว่า

سورة المائدة 2  (وَتَعَاوَنُواْ عَلَى الْبَرِّ وَالتَّقْوَى وَلاَ تَعَاوَنُواْ عَلَى الإِثْمِ وَالْعُدْوَانِ)
และพวกจงช่วยเหลือกันในสิ่งที่เป็นคุณธรรม และความยำเกรง และจงอย่าช่วยเหลือกันในสิ่งที่เป็นบาป และเป็นศัตรูกัน (ซูเราะห์อัลมาอิดะห์ อายะห์ที่ 2)

         อัลลอฮฺ ซุบฮานะฮูวะตะอาลา ทรงสั่งใช้ให้บรรดาผู้ศรัทธานั้นช่วยเหลือกันและกัน สนับสนุนกันในเรื่องของคุณธรรมความดี และความยำเกรง ซึ่งสิ่งที่เป็นคุณธรรมนั่นก็คือ การทำสิ่งที่อัลลอฮฺทรงสั่งใช้ คืออิบาดะห์ ทำความดี สร้างความดีให้เกิดขึ้น  และความยำเกรงนั่นก็คือ การละทิ้งสิ่งที่อัลลอฮฺ ทรงห้าม คือความชั่วทั้งหลาย 

        และยังไม่เพียงพอในการช่วยเหลือกันในความดีและละทิ้งสิ่งที่อัลลอฮฺห้ามเท่านั้น แต่บรรดาผู้ศรัทธานั้นยังต้องไม่ช่วยเหลือกันและกัน สนับสนุนกัน ในเรื่องของสิ่งที่เป็นบาป และการเป็นศัตรูต่อกัน  ซึ่งสิ่งที่เป็นบาปนั่นก็คือ การละทิ้งสิ่งที่อัลลอฮฺทรงสั่งใช้ให้ปฏิบัติ เช่น ละทิ้งละหมาด ละทิ้งการให้ซะกาต หรือละทิ้งความดีต่างๆ และสิ่งที่เป็นบาปคือบรรดาความชั่วทั้งหลาย เป็นต้น และการเป็นศัตรูกันนั่นก็คือ การสร้างความเกลียดชังต่อกัน ระหว่างผู้ศรัทธา และละเมิดต่อสิทธิของกันและกันทั้งด้าน ชีวิต ทรัพย์สิน และเกียรติยศ

และอัลลอฮฺ ซุบฮานะฮูวะตะอาลา ทรงตรัสไว้ว่า

(وَالْمُؤْمِنُونَ وَالْمُؤْمِنَاتُ بَعْضُهُمْ أَوْلِيَاءُ بَعْضٍ  يَأْمُرُونَ بِالْمَعْرُوفِ وَيَنْهَوْنَ عَنِ الْمُنكَرِ وَيُقِيمُونَ الصَّلاَةَ وَيُؤْتُونَ الزَّكَاةَ وَيُطِيعُونَ اللَّهَ وَرَسُولَهُ  أُوْلَئِكَ سَيَرْحَمُهُمُ اللَّهُ إِنَّ اللَّهَ عَزِيزٌ حَكِيمٌ)  سورة التوبة  71
 “และบรรดาผู้ศรัทธาชาย และบรรดาผู้ศรัทธาหญิงนั้น บางส่วนของพวกเขาต่างเป็นผู้ช่วยเหลืออีกบางส่วน ซึ่งพวกเขาจะใช้ให้ปฏิบัติในสิ่งที่ดีและห้ามปรามในสิ่งที่ชั่ว และพวกเขาจะดำรงไว้ซึ่งการละหมาดและจ่ายซะกาต และภักดีต่ออัลลอฮฺ และรอซูลของพระองค์  ชนเหล่านี้แหละ อัลลอฮฺจะทรงเอ็นดูเมตตาแก่พวกเขา แท้จริงอัลลอฮฺนั้นเป็นผู้ทรงเดชานุภาพ ผู้ทรงปรีชาญาณ  (ซูเราะห์อัตเตาบะฮฺ อายะห์ที่ 71)

          ดังนั้นแก่นแท้ของการช่วยเหลือกันและกันที่จะสร้างประโยชน์และก่อให้เกิดความสงบสุขแก่มนุษย์นั้น คือต้องช่วยเหลือกันในการทำความดี ละทิ้งความชั่ว และไม่ช่วยเหลือกันในละทิ้งความดี ทำความชั่วและการเป็นศัตรูต่อกัน  หากว่าสังคมมนุษย์ได้นำกฎของอัลลอฮฺนี้ไปใช้ แน่นอนสังคมนั้น ย่อมเกิดสันติภาพและความสงบสุขอย่างแน่นอน


         การช่วยเหลือซึ่งกันและกันตามวิถีอิสลามนั้น ถือเป็นรากฐานแห่งการพัฒนาของสังคมที่แท้จริง เพราะแน่นอนสังคมที่มีแต่การให้ความช่วยเหลือกันและกันนั้น คือสังคมที่ผู้คนนั้นมีความรักใคร่ กลมเกลียวกัน ไม่คิดร้ายปองร้ายต่อกัน ไม่ละเมิดอธรรมต่อกัน ผู้คนมีจิตใจเมตตา เผื่อแผ่เอื้อเฟื้อซึ่งกันและกัน ไม่ตระหนี่ต่อกัน มีแต่การแบ่งปันกัน ดังเช่นสังคมของท่านนบี ศ็อลลัลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม และบรรดาศอฮาบะห์ ถือเป็นสังคมแห่งความสงบสุข และเป็นสังคมแห่งการช่วยเหลือ เอื้อเฟื้อต่อกันอย่างแท้จริง
“สังคมแห่งการช่วยเหลือซึ่งกันและกันคือสังคมแห่งความสุข  เพราะการช่วยเหลือซึ่งกันและกันสร้างความสุขให้แก่ผู้ให้และผู้รับ”

          และหากว่าผู้คนในสังคมใดๆนั้น ไม่มีการให้ความช่วยเหลือซึ่งกันและกัน นั่นย่อมบ่งบอกถึงสภาพอีกด้านของสังคมนั้นว่า จะต้องมีความเห็นแก่ตัว มีการละเมิด การอธรรมต่อกัน ผู้คนไม่แบ่งปันกันไม่เอื้อเฟื้อต่อกัน และนำมาซึ่งการปองร้ายทำร้ายกันในที่สุด ดังหะดีษที่ท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม ได้เตือนถึงความหายนะที่จะเกิดขึ้นเนื่องจากการอธรรม การละเมิดต่อกันและความตระหนี่ ไว้ว่า

รายงานจากท่านญาบิร บินอับดุลลอฮฺ ร่อฎิยัลลอฮุอันฮุ ว่า ท่านนบีมุฮัมมัด ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม ได้กล่าวว่า

(اتَّقُوا الظُّلْمَ فَإِنَّ الظُّلْمَ ظُلُمَاتٌ يَوْمَ الْقِيَامَةِ وَاتَّقُوا الشُّحَّ فَإِنَّ الشُّحَّ أَهْلَكَ مَنْ كَانَ قَبْلَكُمْ حَمَلَهُمْ عَلَى أَنْ سَفَكُوا دِمَاءَهُمْ وَاسْتَحَلُّوا مَحَارِمَهُمْ)  رواه مسلم
“ท่านทั้งหลายจงระวังการอธรรมเถิด เพราะแท้จริงการอธรรมนั้นคือความมืดมนต่างๆในวันกิยามะห์ และท่านทั้งหลายจงระวังความตระหนี่ เพราะแท้จริงมันเคยทำลายผู้คนในยุคก่อนพวกท่านให้พินาศมาแล้ว มัน(ความตระหนี่)ทำให้พวกเขาต้องหลั่งเลือดกัน และทำให้พวกเขาถือเอาสิ่งที่ต้องห้ามละเมิดกลายเป็นที่อนุมัติ”   (รายงานโดยมุสลิม)

          ส่วนหนึ่งที่ทำให้เกิดการอธรรมการละเมิดกันระหว่างผู้คนนั้นก็เพราะ พวกเขาไม่มีความรักใคร่ต่อกัน ไม่เอื้อเฟื้อต่อกัน พวกเขาไม่ช่วยเหลือซึ่งกันและกัน ไม่แบ่งปันกัน จึงนำมาสู่การมีความเห็นแก่ตัว ความตระหนี่ และการแก่งแย่งกันด้วยความไม่เป็นธรรม ละเมิดต่อชีวิตเลือดเนื้อ ทรัพย์สิน และเกียรติยศ เพื่อให้ได้สิ่งที่ตนเองต้องการมา จนนำไปสู่ความพินาศของสังคมดังที่ท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม ได้บอกไว้ในที่สุด  จึงกล่าวได้ว่า สังคมแห่งความพินาศคือสังคมที่ปราศจาการให้ความช่วยเหลือต่อกัน  ผู้คนในสังคมเช่นนี้ต่างก็แสวงหาสิ่งที่ตนเองต้องการจนไม่ใส่ใจต่อการที่จะต้องไปละเมิด ชีวิต ทรัพย์สิน และเกียรติยศของผู้อื่น และ สนใจแต่สิ่งที่ตนเองจะต้องได้จนลืมสิ่งที่ตนเองจะต้องให้ไป ดังนั้นการบ่มเพาะเรื่องความเอื้อเฟื้อต่อกัน การให้ความช่วยเหลือต่อกัน และนำไปปฏิบัติในวิถีชีวิต จึงเป็นสิ่งที่ป้องกันและขจัดสภาพสังคมแห่งความหายนะ ความพินาศออกไป และนำสังคมแห่งความสงบสุขเข้ามาแทน

         การช่วยเหลือซึ่งกันและกันนั้น จึงเป็นส่วนหนึ่งในวิถีชีวิตของมนุษย์ที่มีความสำคัญมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งสำหรับบรรดาผู้ศรัทธาที่จะต้องตระหนัก ให้ความสำคัญและนำวิถีแห่งการช่วยเหลือซึ่งกันในความดีและกันมาสู่การปฏิบัติในชีวิตของตน ในครอบครัวของตน ในสังคมของตน และเมื่อนั้นหาก การให้ความช่วยเหลือต่อกันและกัน ได้กระจัดกระจายไปทั่วทุกคน ทุกครอบครัว ทุกสังคม แน่นอนสันติภาพ ความสงบสุข ย่อมเกิดขึ้นตามมาอย่างแน่นอน

“สร้างความสุขให้แก่ตนเอง ครอบครัว สังคม และมนุษยชาติ ด้วยกับการนำวิถีแห่ง “การช่วยเหลือซึ่งกันและกัน” ไปอยู่ในวิถีชีวิต”



วัลลอฮุอะอฺลัม


การให้ความช่วยเหลือซึ่งกันและกัน



การให้ความช่วยเหลือซึ่งกันและกัน



เรียบเรียงโดย  อิบนุมะฮฺดี


         มนุษย์นั้นถูกสร้างมาในสภาพที่อ่อนแอ แน่นอนว่ามนุษย์นั้นต้องได้รับความช่วยเหลือและการดูแลจากอัลลอฮฺ ซุบฮานะฮูวะตะอาลา อยู่ตลอดเวลา ไม่มีช่วงใดในของชีวิตที่มนุษย์ไม่พึ่งอัลลอฮฺ ทุกสรรพสิ่งต้องได้รับการดูแล พึ่งพาความเมตตาจากอัลลอฮฺทั้งสิ้น โดยที่ทุกสิ่งนั้นต้องพึ่งพระองค์ แต่พระองค์ไม่ทรงพึ่งพาสิ่งใดทั้งสิ้น ดังที่อัลลอฮฺ ซุบฮานะฮูวะตะอาลา ทรงตรัสว่า

قُلْ هُوَ اللَّهُ أَحَدٌ . اللَّهُ الصَّمَدُ . لَمْ يَلِدْ وَلَمْ يُولَدْ . وَلَمْ يَكُن لَّهُ كُفُوًا أَحَدٌسورة الإخلاص   4-1)
“จงกล่าวเถิด(มุฮัมมัด) พระองค์คืออัลลอฮฺผู้ทรงเอกะ อัลลอฮฺนั้นทรงเป็นที่พึ่ง(แก่ทุกสรระพสิ่ง) พระองค์ไม่ประสูติ และไม่ทรงถูกประสูติ และไม่มีผู้ใดเสมอเหมือนพระองค์” (ซูเราะห์อัลอิคลาศ อายะห์ที่ 1-4)

      อัลลอฮฺ ซุบฮานะฮูวะตะอาลานั้นได้ทรงสร้างมนุษย์มาในสภาพที่อ่อนแอ และกำหนดให้มนุษย์นั้นมีความต้องการได้รับการช่วยเหลือจากมนุษย์ด้วยกันในการดำรงชีวิต  อัลลอฮฺ ซุบฮานะฮูวะตะอาลา ทรงตรัสว่า

سورة النساء  28   (وَخُلِقَ الْإِنْسَانُ ضَعِيفًا)
“และมนุษย์นั้นถูกบังเกิดขึ้นในสภาพที่อ่อนแอ  (ซูเราะห์อันนิซาอฺ อายะห์ 28)

        มนุษย์ถูกสร้างมาในสภาพที่อ่อนแอ ต้องอยู่ร่วมกันเป็นสังคม ต้องพึ่งพาอาศัยซึ่งกันและกัน ไม่มีมนุษย์คนใดที่สามารถดำรงชีวิตอยู่ได้ด้วยตัวเพียงคนเดียว แต่มนุษย์นั้นจำเป็นต้องได้รับการช่วยเหลือจากผู้อื่นเพื่อดำรงชีวิต นับตั้งแต่เราเกิดมาเราก็ได้รับการช่วยเหลือการเลี้ยงดูจากพ่อแม่ ผู้ปกครอง เมื่อเราเติบโตขึ้นเราก็ได้รับการช่วยเหลือจากเครือญาติ มิตรสหาย และผู้คนรอบตัวเราในสังคมมากขึ้นๆ จนกระทั่งเราตายเราก็ยังได้รับการช่วยเหลือจากผู้อื่นอีกเช่นกัน ดังนั้นการให้ความช่วยเหลือระหว่างมนุษย์นั้นถือเป็นพื้นฐานของการดำรงชีวิตของมนุษย์ ที่อัลลอฮฺ ซุบฮานะฮูวะตะอาลา ได้กำหนดไว้  หลักแห่งการช่วยเหลือซึ่งกันและกันนั้นจึงเป็นกฎเกณฑ์ทางธรรมชาติที่อัลลอฮฺได้ทรงกำหนดไว้ว่าจำเป็นสำหรับการดำรงชีวิตของมนุษย์ทั้งทางด้านของดุนยาและทางด้านศาสนา

         การให้ความช่วยเหลือซึ่งกันและกันระหว่างมนุษย์นั้น นอกจากจะเป็นพื้นฐานของการดำรงชีวิตแล้วยังเป็นพื้นฐานของการอยู่ร่วมกันในสังคมอย่างเป็นสุข การที่ผู้คนในสังคมนั้นต่างให้ความช่วยเหลือกันและกันในกิจการต่างๆ สร้างประโยชน์ต่างๆให้เกิดขึ้นทั้งทางดุนยาและศาสนานั้น ย่อมทำให้สังคมนั้นพัฒนาและอยู่ร่วมกันอย่างเป็นสุข แต่หากสังคมใดขาดแคลน หรือไร้ซึ่งการให้ความช่วยเหลือต่อกัน แน่นอนสังคมนั้นย่อมล้าหลังและจะเกิดความเสียหายต่างๆตามมาในไม่ช้า

         สังคมที่ผู้คนให้ความช่วยเหลือกันและกัน นั่นคือสังคมที่ผู้คนมีจิตใจเมตตา มีความรักใคร่ เอื้อเฟื้อต่อกัน  และสังคมที่ผู้คนไม่ให้ความช่วยเหลือต่อกัน นั่นคือสังคมที่ผู้คนมีความเห็นแก่ตัว ตระหนี่ ละโมบ การให้ความช่วยเหลือผู้อื่นนั้นจึงเป็นการสร้างความสุขให้แก่ชีวิตของตัวเองและสร้างความเมตตา ความรักใคร่ เอื้อเฟื้อต่อกัน และความเป็นสุขให้แก่สังคม ขจัดออกซึ่งความเห็นแก่ตัว ความตระหนี่ ความละโมบและความคิดร้ายๆต่อผู้อื่นออกไปจากมนุษย์

         ศาสนาอิสลามคือ วิถีชีวิตอันสมบูรณ์ของมนุษย์ที่อัลลอฮฺ ตะอาลา ทรงประทานลงมาให้พร้อมกับมนุษย์คนแรก แน่นอนที่ศาสนาอิสลามนั้นได้ให้ความสำคัญและเน้นย้ำถึงเรื่องการช่วยเหลือซึ่งกันและกันเป็นอย่างมาก โดยอัลลอฮฺ ซุบฮานะฮูวะตะอาลา ทรงตรัสว่า

سورة المائدة  2 (وَتَعَاوَنُواْ عَلَى الْبَرِّ وَالتَّقْوَى وَلاَ تَعَاوَنُواْ عَلَى الإِثْمِ وَالْعُدْوَانِ)
และพวกจงช่วยเหลือกันในสิ่งที่เป็นคุณธรรม และความยำเกรง และจงอย่าช่วยเหลือกันในสิ่งที่เป็นบาป และเป็นศัตรูกัน (ซูเราะห์อัลมาอิดะห์ อายะห์ที่ 2)

       และการให้ความช่วยเหลือนั้นถือเป็นมาตรฐานในการชี้วัดถึงผู้ที่เป็นที่รักยิ่งของอัลลอฮฺนั้น ขึ้นอยู่ที่ว่า เขาสร้างประโยชน์ ช่วยเหลือแก่ผู้อื่นมากเพียงใด  ดังหะดีษของท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม ที่ท่านได้กล่าวว่า

رواه الطبراني   (أَحَبُّ النَّاسِ إلَى اللهِ أَنْفَعُهُمْ لِلنَّاسِ)
“มนุษย์ที่เป็นที่รักยิ่งของอัลลอฮฺมากที่สุดคือมนุษย์ที่สร้างประโยชน์ให้กับเพื่อนมนุษย์มากที่สุด”  (รายงานโดยอัฏฎ็อบรอนีย์)

         การให้การช่วยเหลือซึ่งกันและกัน สร้างประโยชน์ให้แก่กันในทุกๆด้าน ทั้งในด้าน กำลังร่างกาย คำพูด อาหารการกิน ทรัพย์สิน ให้ความรู้ การช่วยเหลือทั้งด้านดุนยาและศาสนา และอื่นๆล้วนเป็นส่วนหนึ่งในวิถีชีวิตของมนุษย์ ชีวิตมนุษย์ทั้งการงานทางด้านดุนยาและการงานทางด้านศาสนานั้นต่างก็ต้องพึ่งวิถีแห่งการช่วยเหลือซึ่งกันและกัน ดังเช่น วิถีชีวิตของบรรดานบีทั้งหลายก็จะมีบรรดาผู้ที่คอยอยู่ร่วมกับพวกเขา ให้การช่วยเหลือ สนับสนุนในการเผยแพร่ศาสนาของอัลลอฮฺ ต่อสู้ร่วมกับพวกเขาในหนทางของอัลลอฮฺ ดังที่อัลลอฮฺ ตะอาลา ทรงตรัสว่า

(وَكَأَيِّن مِّن نَّبِيٍّ قَاتَلَ مَعَهُ رِبِّيُّونَ كَثِيرٌ فَمَا وَهَنُوا لِمَا أَصَابَهُمْ فِي سَبِيلِ اللَّهِ وَمَا ضَعُفُوا وَمَا اسْتَكَانُوا ۗ وَاللَّهُ يُحِبُّ الصَّابِرِينَ)   سورة آل عمران   146
“และนบีกี่มากน้อยแล้ว ที่กลุ่มชนอันมากมายได้ต่อสู้ร่วมกับเขา แล้วพวกเขาหาได้ท้อแท้ไม่ ต่อสิ่งที่ได้ประสบแก่พวกเขาในทางของอัลลอฮฺ และพวกเขาหาได้อ่อนกำลังลงไม่ และหาได้สยบไม่ และอัลลอฮฺนั้นทรงรักบรรดาผู้อดทนทั้ง
หลาย” (ซูเราะห์อาละอิมรอน  อายะห์ที่ 146)

         และดังเช่นวิถีชีวิตของท่านนบีมุฮัมมัด ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม ท่านนบีมุฮัมมัดนั้นถูกส่งมายังมนุษย์เพื่อเป็นความ
เมตตาแก่มวลมนุษย์ เพื่อสร้างประโยชน์แก่มวลมนุษย์ทั้งหลาย ดังที่อัลลอฮฺ ตะอาลา ทรงตรัสว่า

 (وَمَا أَرْسَلْنَاكَ إِلَّا رَحْمَةً لِّلْعَالَمِينَ)  سورة الأنبياء  107
  "และเรามิได้ส่งเจ้ามาเพื่ออื่นใดนอกจากเพื่อเป็นความเมตตาแก่ประชาชาติทั้งหลาย”   
(ซูเราะห์อันนิซาอฺ อายะห์ที่ 107)

        ชีวิตของท่านนบีมุฮัมมัด ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม นั้นเป็นแบบอย่างแก่มนุษยชาติทั้งหลาย ท่านเป็นทั้งผู้ที่ได้รับการช่วย
เหลือและให้การช่วยเหลือต่อผู้อื่น ทั้งกับครอบครัวของท่าน มิตรสหายของท่าน ผู้คนในสังคมต่างก็ได้รับการช่วยเหลือจากท่านทั้งทางด้านดุนยาและทางด้านศาสนา ชีวิตของท่านทั้งทางด้านดุนยา การเติบโตมาของท่าน อาชีพค้าขายของท่าน ชีวิตของท่านทั้งหมดก็อยู่ในระบบการช่วยเหลือต่อกันและกันกับผู้อื่นมาโดยตลอด เมื่อท่านเติบโตมาท่านก็เป็นผู้ช่วยเหลือผู้อื่นในทุกๆด้าน และในเรื่องทางศาสนา การเผยแพร่ศาสนา การสอนศาสนา การออกสงคราม ญิฮาด และกิจการศาสนาอื่นๆ ท่านก็ได้รับการช่วยเหลือจากบรรดาศอฮาบะฮฺหรือมิตรสหายของท่าน และวิถีชีวิตของบรรดานบีและท่านนบีมุฮัมมัด ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม เป็นสิ่งยืนยันว่าในการดำรงชีวิตของมนุษย์ทั้งทางดุนยาและศาสนานั้น มีสิ่งหนึ่งที่ขาดไปไม่ได้เลย นั่นคือ การช่วยเหลือซึ่งกันและ
กัน
        และท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม ยังได้ชี้แจงแก่มนุษย์ถึงการให้ความช่วยเหลือต่อผู้คนนั้นเป็นวิถีชีวิตของมนุษย์ มันอยู่ในชีวิตประจำวันของมนุษย์ โดยท่านได้บอกว่าทุกข้อกระดูกในร่างกายมนุษย์นั้นมีหน้าที่ที่ต้องทำเศาะดะเกาะห์ หรือทำทานต่อผู้อื่นในทุกๆวัน เพื่อขอบคุณต่ออัลลอฮฺ ซุบฮานะฮูวะตะอาลา

ดังหะดีษที่รายงานจากท่านอบูฮุร็อยเราะห์ ร่อฎิยัลลอฮุอันฮุ กล่าวว่า ท่านร่อซูล ศ็อลลัลอฮูอะลัยฮิวะซัลลัม ได้กล่าวว่า

 (كُلُّ سُلامَى مِنَ النَّاسِ عليهِ صَدَقةٌ ، كُلَّ يَوْمٍ تَطلُعُ فيه الشَّمْسِ : تَعدِلُ بَينَ الاثنينِ صدَقَةٌ ، وتُعينُ الرَّجُلَ في دابَّتِهِ، فتحمِلُهُ عليها ، أو تَرْفَعُ لهُ عليها متاعَهُ صَدَقةٌ ، والكَلِمَةُ الطَّيِّبَةُ صَدَقةٌ ، وبِكُلِّ خُطوةٍ تَمشيها إلى الصَّلاةِ صَدَقةٌ ، وتُميطُ الأذى عَنِ الطَّريقِ صَدَقَةٌ)  رواه البخاري ومسلم
รายงานจากท่านอบูฮุร็อยเราะฮฺ ร่อฎิยัลลอฮุอันฮู กล่าวว่า ท่านร่อซูลุลลอฮฺ ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม กล่าวว่า
   ทุกข้อกระดูกจากผู้คนทั้งหลายนั้น(มีหน้าที่)จะต้องทำเศาะดะเกาะฮฺทุกวัน, ทุกวันที่ตะวันขึ้น ท่านไกล่เกลี่ยระหว่างคนสองคน (ที่ขัดแย้งกัน) ก็เป็นเศาะดะเกาะฮฺ, และท่านช่วยเหลือผู้คนให้ขึ้นพาหนะของเขา หรือช่วยยกสิ่งของขึ้นบนพาหนะของเขาก็เป็นเศาะดะเกาะฮฺ, และคำพูดที่ดีก็เป็นการเศาะดะเกาะฮฺ, และทุกก้าวที่เดินไปสู่การละหมาดก็เป็นเศาะดะเกาะฮฺ, และการขจัดสิ่งอันตราย(หรือสิ่งสกปรก)จากทางเดินก็เป็นเศาะดะเกาะฮฺ (รายงานโดยบุคอรีย์)

          ซึ่งหะดีษนี้ท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม ได้วางระบบแห่งการช่วยเหลือระหว่างผู้คนในสังคม ไว้อย่างครอบคลุม ตั้งแต่การให้ความช่วยเหลือผู้อื่นในด้านความยุติธรรม โดยการไกล่เกลี่ยข้อพิพาท ข้อขัดแย้ง สร้างความปรองดองระหว่างผู้คน ถือเป็นเศาะดะเกาะห์ การให้ความช่วยเหลือผู้อื่นในด้านการสัญจร ด้วยพาหนะการเดินทาง ช่วยในการขนส่งผู้คนและสิ่งของ ช่วยยกของ ถือเป็นเศาะดะเกาะห์  การช่วยเหลือผู้อื่นในด้านการสนทนา ด้วยการพูดสนทนาด้วยคำพูดที่ดี สุภาพไพเราะ พูดตักเตือนกันในความดี ห้ามปรามความชั่ว ถือเป็นเศาะดะเกาะห์ การช่วยเหลือผู้อื่นในด้านการเป็นแบบอย่างที่ดี ด้วยการเดินไปละหมาดที่มัสยิดนั้น ทุกย่างก้าวถือเป็นความดี เป็นเศาะดะเกาะห์เป็นทานกุศลแก่ผู้อื่น เพื่อกระตุ้นหรือชักชวนผู้อื่นไปสู่การละหมาด ไปสู่ความดี และการช่วยเหลือผู้อื่นในด้านความปลอดภัยและความสะอาด โดยการขจัดสิ่งอันตรายหรือขยะออกจากทางเดิน เพื่อความปลอดภัย ความสะดวกสบายในการเดินทางของผู้คนในสังคม เหล่านี้คือรูปแบบสังคมแห่งการช่วยเหลือซึ่งกันและกันที่ท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม ได้ยกตัวอย่างไว้ เพื่อให้มนุษย์นั้นได้ตระหนักถึงความสำคัญของการให้ความช่วยเหลือต่อผู้คนว่า มันเป็นส่วนหนึ่งในวิถีชีวิต กระดูกทุกข้อนั้นมีหน้าที่ที่จะต้องให้ความช่วยเหลือต่อผู้อื่น ในทุกๆวัน

            เหตุผลที่ศาสนาอิสลามให้ความสำคัญต่อเรื่อง การให้ความช่วยเหลือซึ่งกันและกันระหว่างมนุษย์นั้น เนื่องจากมันเป็นส่วนหนึ่งของวิถีชีวิตมนุษย์ เป็นส่วนหนึ่งของการอยู่รอด ดำรงชีวิต หากมนุษย์แม้เพียงสังคมเดียวขาดการให้ความช่วยเหลือซึ่งกันและกัน ผู้คนในสังคมนั้นย่อมไม่สามารถดำรงชีวิตได้อย่างเป็นสุข มนุษย์ถูกสร้างมาในสภาพที่อ่อนแอ  ต้องอยู่ร่วมกันเป็นสังคม ต่างต้องพึ่งพาอาศัยซึ่งกันและกัน นี่คือธรรมชาติของของมนุษย์ ดังนั้นอัลลอฮฺและร่อซูลของพระองค์จึงได้กำชับมนุษย์ให้เห็นถึงคุณค่าของการให้ความช่วยเหลือกัน เพราะมันเป็นสิ่งที่ทำให้มนุษย์นั้นดำรงชีวิตอยู่ร่วมกันได้อย่างเป็นสุข



วัลลอฮุอะอฺลัม